2. งานประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน
หลักการและเหตุผล
ในการประชุมระดับผู้นำอาเซียนที่เมืองพุกาม สหภาพพม่า เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2547 ผู้นำทั้ง 5 ประเทศคือ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนามและไทย ได้ร่วมกันออกปฏิญญาพุกาม (Bagan Declaration) รวมทั้งแผนปฏิบัติการ (Plan of Action) ภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) บนหลักการที่เน้นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การสร้างงานโดยมีกิจกรรมที่เห็นผลเร็วมุ่งผล ประโยชน์ร่วมกัน และเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมความเจริญทางเศรษฐกิจและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งส่งเสริมให้นานาประเทศนอก ACMECS และองค์การระหว่างประเทศได้มีส่วนร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในโครงการต่าง ๆ ครอบคลุมความร่วมมือ 5 สาขา คือ 1) การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน 2) ความร่วมมือด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม 3) การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม 4) การท่องเที่ยว และ 5) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
การพัฒนาการปศุสัตว์ของประเทศไทย มีความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง ทั้งในด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ การพัฒนาพืชอาหารสัตว์และอาหารสัตว์รวมทั้งสาขาเทคโนโลยีการผสมเทียม การพัฒนาด้านสุขภาพสัตว์ การกักกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์ จึงเห็นควรให้การสนับสนุนยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการปศุสัตว์แก่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านปศุสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการในสาขาป้องกันโรคระบาดสัตว์ การปรับปรุงพันธ์สัตว์ สาขาพืชอาหารสัตว์และอาหารสัตว์ รวมทั้งสาขาเทคโนโลยีการผสมเทียมแก่ประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา ลาวพม่า และเวียดนาม)
2. เพื่อสร้างโอกาสในการประกอบธุรกิจการปศุสัตว์ของนักธุรกิจไทยและนักธุรกิจของประเทศเพื่อนบ้านเป็นการแบ่งปันทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการพัฒนาปศุสัตว์
3. เพื่อเสริมสร้างอาชีพและรายได้จากการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรของประเทศเพื่อนบ้าน
เป้าหมาย นักวิชาการกรมปศุสัตว์ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1. วิเคราะห์ความต้องการพัฒนาด้านการปศุสัตว์ จัดทำกรอบและแนวทางการให้ความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาปศุสัตว์แก่ประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการปศุสัตว์ที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละประเทศ ในรูปแบบการจัดหลักสูตรอบรมระยะสั้น สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ ให้คำปรึกษา จัดสัมมนา ศึกษาดูงาน หรือวิจัยร่วม
2. นำเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จากหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ อาทิเช่น กระทรวงการต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ เช่น JICA, JIRCA, FAO เป็นต้น
3. จัดฝึกอบรมทางวิชาการทางด้านปศุสัตว์ กลุ่มประเทศสมาชิก ACMECS ปีละครั้ง
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ประเทศเพื่อนบ้านได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนา สำหรับการพัฒนาการผลิตปศุสัตว์ได้ครบวงจร
2. ประเทศไทยมีแหล่งเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยทั้งในด้านสุขภาพสัตว์และสุขอนามัยของประชาชนเพิ่มเติมจากที่ผลิตได้ในประเทศ เพื่อให้ได้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค
3. นักธุรกิจไทยสามารถขยายธุรกิจและเครือข่ายธุรกิจด้านปศุสัตว์ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งมีโอกาสในการเป็นประเทศคู่ค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการร่วมกันเป็นแหล่งผลิตอาหารส่งออกที่สำคัญซึ่งมีความปลอดภัยทั้งในด้านสุขภาพสัตว์และสุขอนามัยของประชาชน
4. มีการเสริมรายได้ในด้านการเลี้ยงปศุสัตว์ให้กับประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน
5. มีการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีในระดับต่าง ๆ ระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน