หลักการและเหตุผล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของราษฎรทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทยากจน ห่างไกลและทุรกันดาร จึงทรงทราบสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร ด้วยความห่วงใยจึงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตการเกษตรและปศุสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสมากขึ้นในการเข้าถึงแหล่งความรู้ด้านวิชาการเกษตรสมัยใหม่ มีโอกาสเรียนรู้ และเห็นตัวอย่างของความสำเร็จของการผลิตในพื้นที่ต่างๆ สามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินกิจกรรมของตนเองอย่างได้ผล ที่สำคัญ คือ ทรงเน้นเรื่องการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น โค กระบือ แพะ แกะ และสัตว์ปีก เพื่อแนะนำให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้ ใช้เทคโนโลยีที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ราคาถูก หรือเทคนิควิธีการดูแลต้องเหมาะสมกับสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ โดยมีพระราชประสงค์เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้โดยเฉพาะด้านอาหารเป็นอันดับแรกและทำการเกษตรผสมผสาน เพื่อลดความเสี่ยงและมีรายได้ตลอดปี
กรมปศุสัตว์น้อมรับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระราชวงศ์ ซึ่งนอกจากจะมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการหลายๆ โครงการเพื่อเป็นตัวอย่างเป็นแหล่งสร้างงาน ช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจนในเขตพื้นที่ใกล้เคียง เป็นแหล่งผลิตอาหาร แหล่งการศึกษาเรียนรู้ การดูงาน เพื่อแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพด้านการเกษตรแล้ว ยังทรงมีพระราชดำริในการส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารได้รับสารอาหารที่จำเป็นเพื่อการเจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและมีสุขภาพดี รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติอีกด้วย ดังนั้น การดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการปศุสัตว์ ซึ่งดำเนินการในทุกภาคของประเทศ จึงมีรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลายตามความเหมาะสมของแต่ละสภาพพื้นที่ โดยยึดหลักช่วยเหลือเกษตรกรให้พึ่งพาตนเองได้ไม่เดือดร้อน อาศัยความสามัคคีของคนในชุมชน ประหยัด ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า พัฒนาต่อเนื่อง สร้างความยั่งยืน เป็นหลักในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามพระราชดำริ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อศึกษาวิจัยทดสอบงานด้านปศุสัตว์ และหาแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้นๆแล้วเผยแพร่สู่เกษตรกร
2. เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ในชุมชนพื้นที่โครงการ ให้เกษตรกรมีอาหารโปรตีนบริโภคและมีอาชีพรายได้ที่มั่นคง
3. เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ในโรงเรียน เป็นอาหารกลางวันของนักเรียนและเป็นประโยชน์ด้านการเรียนรู้ของนักเรียนและชุมชน
เว็บไซต์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมปศุสัตว์
ลักษณะการดำเนินงาน
ดำเนินงานเพื่อสนองพระราชดำริของทุกพระองค์ที่พระราชทานเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการปศุสัตว์ แก้ไขปัญหาขาดสารอาหารโปรตีนในถิ่นทุรกันดาร และพระราชทานความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการผลิตอาหารโปรตีนบริโภคอย่างเพียงพอทั้งในครัวเรือน โรงเรียนและชุมชน มีความรู้ในการประกอบอาชีพและมีรายได้เพิ่มขึ้น มีลักษณะการดำเนินงาน ดังนี้
1. ศึกษาวิจัย ทดสอบด้านการปศุสัตว์ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาและวางแผนพัฒนาอย่างเหมาะสม ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ
2. สาธิตการเลี้ยงสัตว์เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรและผู้สนใจ และผลิตลูกสัตว์เพื่อสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียง
3. ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกร ครู นักเรียนและชุมชน ในพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียง ให้คำแนะนำทางวิชาการด้านการเลี้ยงสัตว์ การป้องกันโรคสัตว์และการขยายพันธุ์สัตว์ เพื่อให้เกษตรกร ครูและนักเรียน มีความรู้ สามารถปฏิบัติงานเลี้ยงสัตว์ของตนเอง รวมทั้งถ่ายทอดสู่ผู้สนใจและชุมชนได้
4. ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์สู่เกษตรกรและโรงเรียน โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิตเบื้องต้น เพื่อให้สามารถเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์เป็นอาหารโปรตีนบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นรายได้ เป็นอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน แก้ไขปัญหาการขาดสารอาหารโปรตีนและเป็นประโยชน์ด้านการเรียนการสอนในโรงเรียน ตลอดจนเป็นแหล่งความรู้ของชุมชน
กรมปศุสัตว์ดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 7 กลุ่ม 60 โครงการ ได้แก่
กลุ่ม 1 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 โครงการ
กลุ่ม 2 โครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 8 โครงการ
กลุ่ม 3 โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี 47 จังหวัด 9 สนง.ปศข
กลุ่ม 5 โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2 โครงการ
กลุ่ม 6 โครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา 2 โครงการ
กลุ่ม 7 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อื่นๆ 39 โครงการ
เว็บไซต์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมปศุสัตว์
รวม 61 จังหวัด ใน 9 เขต ทุกภาคของประเทศไทย ดังนี้
สำนักงานปศุสัตว์เขต 1 5 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี
สำนักงานปศุสัตว์เขต 2 9 จังหวัด คือ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา นครนายก สระแก้ว ปราจีนบุรี ระยอง ชลบุรี ตราด จันทบุรี
สำนักงานปศุสัตว์เขต. 3 7 จังหวัด คือ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร
สำนักงานปศุสัตว์เขต 4 10 จังหวัด คือ อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย เลย สกลนคร มหาสารคาม นครพนม ขอนแก่น มุกดาหาร บึงกาฬ
สำนักงานปศุสัตว์เขต 5 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่
สำนักงานปศุสัตว์เขต 6 6 จังหวัด คือ พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ พิจิตร
สำนักงานปศุสัตว์เขต 7 4 จังหวัด คือ ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์
สำนักงานปศุสัตว์เขต 8 5 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง พังงา
สำนักงานปศุสัตว์เขต 9 7 จังหวัด คือ สงขลา ตรัง พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส
เว็บไซต์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมปศุสัตว์
โดยมีเป้าหมายการดำเนินงาน ดังนี้
1. กิจกรรมศึกษาวิจัยด้านปศุสัตว์ พื้นที่ดำเนินการ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ 6 ศูนย์
2. กิจกรรมสาธิตการเลี้ยงสัตว์ พื้นที่ดำเนินการ ศูนย์ศึกษาการพัฒนา 6 แห่ง และโครงการที่มีกิจกรรมสาธิตการเลี้ยงสัตว์
3. กิจกรรมฝึกอบรม เกษตรกรในพื้นที่โครงการ หลักสูตร ความรู้พื้นฐานเรื่องการเลี้ยงสัตว์ ครูและนักเรียนในโรงเรียน โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ให้ความรู้เบื้องต้นด้านการจัดการเลี้ยงสัตว์ การป้องกันโรค การขยายพันธุ์ จัดการผลผลิต การบันทึกข้อมูลบัญชีฟาร์ม และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่บันทึก ให้คำแนะนำการจัดตั้งกองทุนเลี้ยงสัตว์ของ ร.ร.
4. กิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์สู่เกษตรกร
(1)ส่งเสริมการเลี้ยงแพะ
(2) ส่งเสริมการเลี้ยงสุกร
(3) ฟาร์มสาธิตสุกร
(4) ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีก
(5) ฟาร์มสาธิตสัตว์ปีก
(6) ฟาร์มสาธิตโค
(7) ฟาร์มสาธิตแพะ
(8) กองทุนอาหารสัตว์ เพื่อช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารและขาดแคลนอาหารสัตว์ มีอาหารให้สัตว์กิน โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาจัดทำอาหารสัตว์อย่างง่าย และบางพื้นที่เกษตรกรมีการลี้ยงสัตว์หนาแน่น กองทุนอาหารสัตว์ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
(9) กองทุนยาสัตว์ เพื่อช่วยเกษตรกรในพื้นที่ให้ได้รับโอกาสในการป้องกันโรคระบาดสัตว์ การรักษาพยาบาลสัตว์ป่วยให้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น ลดค่าใช้จ่ายและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร ทำให้มีอาหารบริโภคลดรายจ่ายหรือจำหน่ายเป็นรายได้เพิ่มในครัวเรือน โดยสนับสนุนเวชภัณฑ์ ยาสัตว์ที่จำเป็นไว้ใช้สำหรับการป้องกันและรักษาพยาบาลสัตว์เบื้องต้นในหมู่บ้าน มีการฝึกอบรมให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้ยาสัตว์ เวชภัณฑ์ที่จำเป็น ให้แก่สมาชิกกลุ่มโดยมีอาสาปศุสัตว์ประจำหมู่บ้านเป็นที่ปรึกษา หรือช่วยดูแล อบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับการจัดการเลี้ยงสัตว์ การป้องกันโรคสัตว์ที่ถูกต้อง
5. กิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีกในโรงเรียนในโครงการพระราชดำริ 30 โรงเรียน (อ่าวคุ้งกระเบน 3 ร.ร. โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ 4 ร.ร. ด่านซ้าย จ.เลย 10 ร.ร. รักษ์น้ำ จ.แม่ฮ่องสอน 4 ร.ร. ห้วยทราย 4 ร.ร. พิกุลทอง 5 ร.ร.)
เว็บไซต์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมปศุสัตว์
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ผลการศึกษาวิจัยด้านปศุสัตว์ เป็นประโยชน์ต่อการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ทั้งการแก้ปัญหาการเลี้ยงสัตว์และการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น
2. โครงการพระราชดำริที่มีการสาธิตและผลิตสัตว์ เป็นแหล่งสาธิตการเลี้ยงสัตว์ แหล่งขยายพันธุ์สัตว์เป็นสถานที่ฝึกอบรมดูงานเพื่อการเรียนการสอนและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านปศุสัตว์สู่เกษตรกรและเยาวชนให้เห็นแบบอย่างที่ถูกต้องนำกลับไปปฏิบัติเอง
3. การฝึกอบรมความรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกร ครูเกษตรและนักเรียน ทำให้ได้รับความรู้เรื่องการเลี้ยงสัตว์ เช่น การให้อาหาร การป้องกันโรค การบันทึกข้อมูลบัญชีฟาร์ม การทัศนศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นำความรู้ไปพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ของตนเองเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในอนาคต ส่วนการอบรมทำผลิตภัณฑ์สัตว์เพื่อให้เกษตรกรนักเรียนในโรงเรียน ได้รับความรู้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์ที่สามารถทำได้เอง ทำให้มีผลิตภัณฑ์สัตว์เก็บไว้บริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้ต่อไป
4. เกษตรกรและโรงเรียนที่ได้รับการส่งเสริมพันธุ์สัตว์และพืชอาหารสัตว์ มีการเลี้ยงสัตว์ขยายพันธุ์ได้ผลผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นรายได้เสริม เป็นฟาร์มสาธิตการเลี้ยงสัตว์เป็นตัวอย่างในการปฏิบัติและกระจายพันธุ์สัตว์ให้เกษตรกรรายอื่นๆในชุมชน เป็นอาหารกลางวันของนักเรียนทำให้มีสุขภาพแข็งแรง นักเรียนมีทักษะประสบการณ์เป็นแหล่งการเรียนการสอนและโรงเรียนมีเงินกองทุนในการเลี้ยงสัตว์ต่อเนื่อง
5. ประชาชนและเยาวชนในเขตทุรกันดาร ซึ่งครอบครัวมีฐานะยากจน อยู่ในพื้นที่ชายแดน ป่าเขาที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้รับผลประโยชน์โดยตรง มีอาชีพเสริมและรายได้เพิ่มขึ้น มีอาหารโปรตีนบริโภคสุขภาพพลานามัยดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
เว็บไซต์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมปศุสัตว์