เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

การศึกษาการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว

การศึกษาการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว

จารุวัฒน์  นุตเดชานันท์ 2/     สว่าง  อังกุโร 2/ 

บทคัดย่อ                        

                การศึกษาการดำเนินโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษารูปแบบแนวทางการดำเนินงาน    2) เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกรมปศุสัตว์ในพื้นที่

                โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ ล้านครอบครัว เป็นโครงการตามนโยบายรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนโครงการหนึ่ง อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ผ่านมา เมื่อถึงฤดูที่ผลผลิตออกสู่ตลาด ผลผลิตก็จะออกมาพร้อมๆ กันจำนวนมาก เกษตรกรมักประสบปัญหาราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ การช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการปรับโครงสร้างการผลิต โดยปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่เกษตรกรปลูกให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เกษตรกรก็ยังพบปัญหาจากภัยธรรมชาติ ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล มีทั้งฝนแล้ง น้ำท่วม ฝนทิ้งช่วง ผลผลิตเสียหาย ทำให้เกษตรกรมีหนี้สิ้น การหาแหล่งเงินทุน หรือการลงทุนโดยการกู้ยืมเงินเพิ่มเติมจากหนี้สินที่มีอยู่แล้วทำได้ยาก ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายจัดตั้งนิติบุคคลในรูปบริษัท โดยจัดหาทุนในรูปปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร และช่วยเหลือบริหารจัดการ เพิ่มขีดความสามารถให้เกษตรกรมีเทคโนโลยีในการผลิต การแปรูป การตลาดที่เหมาะสม รวมทั้งช่วยเหลือในการบริหารความเสี่ยงต่างๆ โดยจัดตั้งบริษัทส่งเสริมธุรกิจเกษตรกรไทย จำกัด (สธท.) ดำเนินงานประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงผ่านกลไกของรัฐบาล และเอกชนที่มีอยู่แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ ในเบื้องต้น บริษัท สธท. ได้แต่งตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นตัวแทนดำเนินการกิจการธุรกิจโคเนื้อที่เกี่ยวข้องตามโครงการส่งเสริมการ เลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว

                 โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ ล้านครอบครัว มีวัตถุประสงค์  1) แก้ไขปัญหาเกษตรกรที่ยากจน โดยการเลี้ยงโคเป็นอาชีพเสริมและเพิ่มรายได้  2) ผลิตเนื้อโคให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และให้สามารถส่งออกได้  3) ส่งเสริมเกษตรกรผลิตปุ๋ยคอก ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี  มีกิจกรรมดำเนินการ   2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมผสมเทียม เป็นกิจกรรมดำเนินการด้านการผลิตโคเพื่อให้แม่โคของเกษตรกรสามารถเพิ่มผล ผลิตจากเดิมที่เคยให้ผลผลิตลูกโค 50 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ และพัฒนาปรับปรุงพันธุ์โคโดยใช้น้ำเชื้อจากพ่อโคพันธุ์ดีที่กรมปศุสัตว์ รับรอง ดำเนินการโดยกรมปศุสัตว์เปิดรับสมัครเกษตรกรผู้นำที่มีความรู้ หรือมีประสบการณ์ด้านการผสมเทียมเข้ารับการฝึกอบรมและสอบผ่านการทดสอบเป็น อาสาผสมเทียม เพื่อให้บริการผสมเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพทั่วถึง เกษตรกรที่มีแม่โคหรือโคสาวเลี้ยงอยู่แล้ว หากประสงค์ขอรับบริการผสมเทียม สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอทุกแห่ง เกษตรกรที่เลี้ยงแม่โคนอกจากจะได้รับบริการผสมเทียมแล้ว แม่โคจะได้รับการขึ้นทะเบียนทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ และบัตรประจำตัวโค ตลอดจนบริการดูแลด้านสุขภาพแม่โค กิจกรรมที่ 2 คือ กิจกรรมจัดหาโคมาให้เกษตรกรยืมเลี้ยง มีบริษัทส่งเสริมธุรกิจเกษตรกรไทย จำกัด (สธท.) เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ดำเนินการโดยจัดหาโครุ่นหย่านมอายุ 8 – 12 เดือน มาให้เกษตรกรยืมเลี้ยงเป็นเวลา 1 – 1½ ปี เมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนด หรือโคเติบโตได้ขนาด บริษัท สธท. จะรับคืนโคจากเกษตรกร โดยจ่ายค่าตอบแทนการเลี้ยงจากน้ำหนักโคที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวเงินจากมูลค่าโค สุดท้ายหักมูลค่าเริ่มต้น หักค่าใช้จ่ายดำเนินการของบริษัท และส่วนต่างหรือกำไร ร้อยละ 10 ให้บริษัท บริษัทจะนำโคไปให้เกษตรกรยืมเลี้ยง และรับโคคืนถึงบ้านเกษตรกร การเลี้ยงโคเนื้อเป็นอาชีพเสริมในลักษณะผสมผสานการปลูกพืชที่เกษตรกรทำอยู่ แล้ว โดยเฉพาะการเลี้ยงโคเนื้อจำนวน 2 ตัว เกษตรกรใช้เวลาในการเลี้ยงดูประจำวันเพียงเล็กน้อย ประกอบกับโคเป็นสัตว์กินหญ้าและพืชวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การลงทุนเลี้ยงอยู่ที่ตัวโคเป็นส่วนใหญ่ และมูลโค สิ่งขับถ่ายจากโคสามารถใช้ผลิตปุ๋ยคอก ปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของกิน ให้อินทรียวัตถุแก่ดิน มีส่วนช่วยเสริมการปลูกพืชหลักของเกษตรกร ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ตลอดจนลดต้นทุนการผลิตค่าปุ๋ยด้วยอีกทางหนึ่ง

                โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว เป็นโครงการหนึ่งที่ช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจนในพื้นที่ มีกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 3 ฝ่าย ได้แก่ อาสาผสมเทียม เกษตรกรเลี้ยงแม่โคเพื่อผลิตลูก และเกษตรกรเลี้ยงโครุ่นหย่านม ในระยะเริ่มต้นอาจดูเหมือนเป็นการดำเนินการเป็นส่วนๆ ไป   แต่ต่อไปเมื่อมีการดำเนินการในระดับพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล ทั้ง 3 ฝ่ายจะอยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือใกล้เคียงกัน อาสาผสมเทียมจะให้บริการผสมเทียมผู้เลี้ยงแม่โค ให้คำแนะนำดูแลสุขภาพโคตลอดจนการดูแลแม่โคก่อนคลอดไปจนคลอด และหย่านมลูกโค เมื่อลูกโคเติบโตอายุ 8 – 12 เดือน บริษัท สธท.  ก็จะมารับซื้อโค เพื่อส่งมอบให้เกษตรกรกลุ่มเลี้ยงโครุ่นหย่านมยืมไปเลี้ยง เป็นวงจรอยู่ในหมู่บ้าน ตำบล พื้นที่เดียวกัน     มีการร่วมอาศัยพึ่งพากันในสังคม หากกลุ่มเกษตรกรมีการดำเนินงานสังคมที่เข้มแข็งขึ้น เกษตรกรสามฝ่ายรวมตัวกันได้เป็นกลุ่มหรือสหกรณ์ ก็สามารถประกอบธุรกิจการผลิตโคเนื้อที่เข้มแข็ง ขยับขยายเป็นอาชีพที่มั่งคงให้กับชุมชนของเกษตรกรต่อไป 


1/ ทะเบียนวิชาการเลขที่ 50 (2) – 0511 – 070
2/ สำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี

ดาวน์โหลดเรื่องเต็ม