เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

การใช้ประโยชน์จากเนื้อโค

               การจะนำเนื้อโคไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม  ต้องคำนึงวัตถุประสงค์ของผู้บริโภคในการจะนำเนื้อนั้นไปใช้ทำอะไร  ซึ่งแบ่งผู้บริโภคออกเป็น  2  กลุ่ม  ดังนี้

              1. ผู้บริโภคที่นำเนื้อสดไปประกอบอาหาร ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ว่าจะนำไปประกอบอาหารประเภทใด

                          1) อาหารไทย  เนื้อที่มีความเหมาะสมตามต้นตำหรับอาหารไทยส่วนใหญ่จะใช้เนื้อโคพื้นเมือง  หรือเนื้อโคลูกผสมพื้นเมืองกับพันธุ์บราห์มันอายุมาก  หรือเป็นโคที่เลี้ยงปล่อยให้กินหญ้าตามธรรมชาติ  เพราะอาหารไทยส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้เวลาในการเคี่ยวนาน  นอกจากนี้ยังมีอาหารที่ต้องใช้เนื้อที่บดหยาบ หรือ สับละเอียด เช่น ลาบ  ผัดกะเพรา

                          2) อาหารตะวันตก  เน้นเนื้อที่มีความนุ่มเพราะนำไปทำสเต็ก  เนื้ออบ  เนื้อย่างบาบิคิว เป็นต้น  ดังนั้นเนื้อที่มีความเหมาะสมจึงเป็นเนื้อโคขุน  ถ้าเป็นโคขุนลูกผสมบราห์มันเลือดสูงต้องมาจากโคที่ได้รับอาหารข้นเป็นเวลา นาน  หรือมาจากโคขุนลูกผสมเลือดยุโรป  ซึ่งในประเทศไทยนิยมใช้เนื้อโคขุนลูกผสมพันธุ์ชาโรเลส์

                          3) อาหารญี่ปุ่น-เกาหลี  นิยมใช้เนื้อที่สไลด์เป็นแผ่นบางหรือหั่นเป็นชิ้นเล็ก  แต่เนื้อต้องนุ่มและมีไขมันแทรก  เพราะนิยมนำไปย่างบนกระทะย่าง  ลวกในนน้ำซุป  ทำชาบู ชาบู  ผัดเนื้อจานร้อน  ดังนั้นเนื้อที่เหมาะสมควรจะเป็นเนื้อโคขุนลูกผสมเลือดยุโรป

                          4) อาหารจีน  ได้แก่เนื้อที่มีเอ็น  เนื้อผัดน้ำมันหอย  เนื้อผัดซอสควรเป็นเนื้อหั่นชิ้นเล็กและมีความนุ่ม  นอกจากนี้ยังมีเนื้อที่สไลด์เป็นแผ่นบางสำหรบอาหารประเภท  หม้อไฟ สุกี้

                          5) อาหารเพื่อสุขภาพ  ควรเป็นเนื้อที่ไม่ติดมันและไม่มีไขมันแทรก  สอดคล้องกับเนื้อโคพื้นเมืองที่ได้มาจากการเลี้ยงปล่อยหากินตามทุ่งหญ้า ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์  แต่เนื่องจากเนื้อโคมีความนุ่มปานกลาง  ดังนั้นจึงควรนำเนื้อมาสไลด์เป็นแผ่นบาง  ก่อนนำไปประกอบอาหาร

            2. ผู้บริโภคที่นำเนื้อไปแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ 

                           ความสำเร็จของธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การใช้เนื้อที่มีมูลค่าต่ำ หรือเนื้อจากชิ้นส่วนที่มีความสำคัญรองลงมามาเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคด้วย  เนื้อที่จัดว่าเป็นผลพลอยได้นอกจากจะเป็นเนื้อจากโคอายุมาก หรือแก่ปลดระวางแล้ว  ยังมีเนื้อจากชิ้นส่วนที่ไม่สามารถนำไปทำสเต็ก  ย่าง หรืออบ  ได้แก่  เนื้อพื้นท้อง  เนื้อสีข้าง เนื้อบริเวณคอ  ซึ่งถ้ามาจากเนื้อโคขุนแล้ว จะมีไขมันปนอยู่มาก  ไม่เหมาะที่จะนำมาทำลูกชิ้น  ดังนั้นในต่างประเทศจึงนิยมนำไปทำแฮมเบอร์เกอร์  และวัตถุดิบในการทำไส้กรอก  สำหรับโคที่เลี้ยงในประเทศไทยโดยทั่วไปที่ไม่ได้ขุน  เนื้อดังกล่าวสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ลดรูปชนิดบด ละเอียด  เช่น  ลูกชิ้นได้  เพราะเนื้อดังกล่าวไม่มีไขมันปน

ผลิตภัณฑ์เนื้อแบ่งออกเป็น  2  กลุ่ม  ดังนี้
                     1)   ผลิตภัณฑ์เนื้อคงรูปเดิม  ได้แก่  ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เนื้อทั้งก้อน  เช่น แฮมเนื้อโค (beef  ham) และ แฮมดิบ (raw  cured  beef)  ที่ใช้เนื้อสะโพกพับนอก

                      2)   ผลิตภัณฑ์ เนื้อลดรูป  เนื้อจะถูกลดขนาดลงก่อนเข้าสู่กระบวนการแปรรูปสามารถใช้เนื้อที่มีขนาดเล็ก  เนื้อจากชิ้นส่วนที่เหนียวหรือเศษเนื้อที่ได้จากการตัดแต่งมาใช้เป็นวัตถุ ดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อลดรูป แบ่งออกเป็น  2  ชนิด คือ
                                - ผลิตภัณฑ์เนื้อบดหยาบ  ได้แก่  ไส้กรอกเปรี้ยว  ซาลาเปา  แฮมเบอร์เกอร์
                                - ผลิตภัณฑ์เนื้อบดละเอียด  ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เนื้ออิมัลชั่น  (ไส้กรอกรมควัน  โบโลญ่า มีทโลฟ) ลูกชิ้น