เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

การบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อสุขภาพ

การบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อสุขภาพ

           ข้อควรรู้เกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อสุขภาพของร่างกาย  สรุปได้ดังนี้

           1. เนื้อสัตว์เป็นแหล่งอาหารที่ให้โปรตีนสูง  เป็นโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนะสูง  และถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกายได้เกือบหมด  เนื้อสัตว์มีโปรตีนอยู่สูงถึง  20%  และมีกรดอะมิโน lysine  และ taurine ในปริมาณสูง  เมื่อเทียบกับปริมาณโปรตีนที่ได้จากอาหารอื่น

           2. เนื้อสัตว์ประกอบด้วยวิตามินหลายอย่าง  ได้แก่  B1, B6, B12, A, D, E, K และ C  โดยเฉพาะวิตามิน C  มี อยู่มากในผลิตภัณฑ์เนื้อ  เช่น  ไส้กรอก  แฮม  เป็นต้น  นอกจากนี้ในผลิตภัณฑ์เนื้อกลุ่มหมักเปรี้ยว  เช่น  แหนม  ซาลามี่  ยังมีแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ  เช่น  แลคโตบาซิลัส

           3.เนื้อสัตว์ประกอบด้วยแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย  และมักจะพบอยู่น้อยมากในแหล่งอาหารอื่น ๆ  แต่จะมีมากในเนื้อสัตว์  คือ  ธาตุเหล็ก  สังกะสี  ซีลิเนียม

           4.เนื้อสัตว์ที่จะนำมาปรุงอาหาร   หากต้องการความนุ่มควรเป็นเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการบ่มเนื้อ (ageing)  เป็น ระยะเวลาหนึ่งก่อน  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีภายในเนื้อ  ได้แก่  การให้เอ็นไซม์ในเนื้อมีโอกาสมาย่อยโปรตีนบางส่วน  ทำให้เนื้อสัตว์พ้นสภาวะการหดตัวอย่างถาวรของเส้นใยกล้ามเนื้อ  โดยในสุกรควรบ่มนื้อประมาณ  2  วัน  ในโคประมาณ  7-14 วัน เพื่อให้ได้เนื้อที่นุ่มน่ารับประทานมากขึ้น

           5. การปรุงอาหารประเภทเนื้อสัตว์  ควรมีไขมันเนื้อสัตว์ติดปนอยู่กับชิ้นเนื้อบ้าง  เพราะจะทำให้เนื้อนั้นไม่กระด้างเมื่อถูกความร้อนขณะปรุงอาหาร  โดยไขมันจะช่วยป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อเกิดการสูญเสียน้ำไปได้โดยง่าย  นอกจากนี้  เนื้อสัตว์ที่มีไขมันติดมาบ้างจะมีกลิ่นและรสชาติที่ดีกว่าเนื้อสัตว์ที่ไม่ ติดไขมันเลย

           6. เนื้อสัตว์จะมีสารพิษตกค้างอยู่น้อยมาก  เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารประเภทอื่น ๆ  ที่มีโอกาสของการตกค้างของสารพิษสูงกว่า  เช่น  ผัก  ผลไม้ และอาหารทะเล

           7. เนื้อสัตว์ที่เลาะเอาไขมันและผังผืดออกแล้ว  จะมีไขมันเป็นองค์ประกอบในปริมาณต่ำ  คือ มีไขมันเป็นองค์ประกอบเพียง  1 – 2 % เท่านั้น  ดังนั้นเนื้อสัตว์ที่แต่งเอาไขมันออกบ้างแล้วจึงเป็นอาหารที่มีองค์ประกอบทางโภชนะสูงและให้พลังงานต่ำ

           8. การย่างเนื้อ   ไม่ควรมีไขมันหรือคราบเก่าของไขมันจากสัตว์ที่หยดลงบนภาชนะที่ย่างครั้งก่อน ๆ ติดทิ้งไว้  หรือปล่อยให้ไขมันสัตว์หยดลงบนถ่านไฟ  เนื่องจากควันไฟที่เกิดจากการที่ไขมันสัตว์ถูกเผาไหม้อาจจะมีสารก่อมะเร็ง  ดังนั้น  ถ้าใช้เตาถ่านในการย่างเนื้อก็ควรเคาะถ่านให้หยดไขมันที่ไหม้ไฟหลุดออกไป  หรือการป้องกันที่  คือ เตาย่างไฟฟ้าแบบที่ให้ความร้อนจากด้านบน  นอกจากนี้การใช้อลูมิเนียมฟลอยปูพื้นเตาไฟฟ้าหรือเตาย่างแบบใช้ก๊าซให้ความ ร้อน  ก็ช่วยป้องกันการเกิดติดค้างของไขมันบนเตาย่างได้เป็นอย่างดี

           9. การประกอบอาหารจากผลิตภัณฑ์เนื้อที่มีการเติมเกลือไนไตรต์   เพื่อลดโอกาสการปนเปื้อนของจุลินทรีย์  เพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์  และช่วยให้ผลิตภัณฑ์เนื้อมีสีสันน่ารับประทานมากขึ้นนั้น  ไม่ควรให้ความร้อนสูงผ่านโดยตรงกับผลิตภัณฑ์  เช่น  วิธีการทอดโดยน้ำมันร้อนจัด  เพราะอาจมีโอกาสเกิดสารไนโตรซามีน  ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งได้  ดังนั้นเพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย  จึงไม่ควรใช้เวลาในการทอดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนานเกินควร  หรือใช้ความร้อนสูงเกินความจำเป็นในการทำให้สุก  วิธีการที่เหมาะสมในการทำให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวร้อนควรใช้การลวกในน้ำร้อน หรือโดยการนึ่ง

           10. เนื้อแช่เยือกแข็ง (frozen  meat)  หากผ่านการทำให้ละลายที่ถูกวิธีจะรักษาคุณภาพคงเดิมไว้ได้ตามปกติการเก็บรักษาเนื้อสัตว์โดยวิธีการแช่แข็ง (-18  ถึง -30 องศาเซลเซียส)   จะช่วยให้สามารถเก็บรักษาเนื้อไว้ได้นานโดยไม่เสื่อมคุณภาพ  และหากนำเนื้อสัตว์แช่แข็งมาทำการละลาย (thawing) อย่าง ถูกวิธีจะไม่ทำให้คุณค่าทางโภชนะของเนื้อสัตว์นั้นลดลงไป  แต่ถ้านำไปละลายโดยไม่ถูกวิธี  เมื่อนำเนื้อสัตว์นั้นไปประกอบอาหารจะทำให้คุณค่าทางโภชนะ เช่น วิตามิน  แร่ธาตุ  และโปรตีนลดลงได้  เนื้อที่ผ่านกระบวนการแช่แข็งอย่างรวดเร็ว(quick  frozen)  สามารถนำมาทำให้ละลายอย่างรวดเร็วได้  โดยการนำเนื้อที่ได้ดังกล่าวใส่ในถุงพลาสติกที่ปิดสนิทแล้วแช่ในน้ำอุ่น 

           แต่ถ้าเนื้อที่ผ่านการแช่แข็งแบบธรรมดา  ควรนำมาทำให้ละลายอย่างช้า ๆ โดยการนำไปใส่ภาชนะแล้ววางไว้ในตู้เย็นซึ่งจะต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน  หากต้องการให้ละลายเร็วก็ควรนำมาวางไว้ที่อุณหภูมิห้อง  แต่ทั้งนี้ต้องระวังการปนเปื้อนจุลินทรีย์ด้วย  ซึ่งจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ถ้าอุณหภูมิในเนื้อนั้นเพิ่มขึ้น  ส่วนเนื้อแช่แข็งที่ผ่านการละลายแล้วไม่ควรนำกลับไปแช่แข็งอีก  เนื่องจากคุณค่าทางโภชนะได้ลดลง  และเนื้อได้มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ในระหว่างการละลายน้ำแข็ง