ในยุคสมัยที่ดิจิตอลเฟื่องฟูอย่างในปัจจุบัน ทุกอย่างที่เคยเป็นระบบกลไก กลับกลายเป็นระบบดิจิตอลเสียทุกสิ่ง หลายอย่างง่ายดายกว่าแต่ก่อนมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการถ่ายภาพ จากที่กว่าจะลงมือถ่ายภาพสักหนึ่งแชะต้องคิดแล้วคิดอีก คำนวณระยะห่างระหว่างวัตถุกับกล้อง คำนวณค่ารูรับแสง ค่าความเร็วชัตเตอร์ และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย อีกทั้งผู้ถ่ายภาพต้องเป็นผู้มีวิชา ความรู้ทางด้านการถ่ายภาพ ร่ำเรียนกันมาเป็นปี สองปี ก็ถูกลดบทบาทไปด้วย กล้องดิจิตอลที่ปัจจุบันพัฒนาไปมาก มีการคำนวณค่าทางการถ่ายภาพต่างๆ ไว้ให้เสร็จสรรพ ถ่ายภาพแล้วเห็นภาพเลยได้ทันที ทันใจ มีขนาดของจอแสดงผลให้เลือกใช้หลายขนาดแล้วแต่รุ่น แล้วแต่ยี่ห้อ ไม่ต้องไปรอล้างฟิล์ม เพื่ออัดขยายเป็นภาพอีกทีเหมือนแต่ก่อน
ด้วยคุณภาพของกล้องดิจิตอลที่มีโหมด/โปรแกรมต่างๆ ทั้งถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ ถ่ายภาพบุคคล ถ่ายภาพเคลื่อนไหว และโหมดอื่นๆ ให้เลือกใช้ได้ตรงใจ ตรงความต้องการมากขึ้น บวกกับราคาของกล้องที่ถูกลง จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ใครๆ ต่างก็มีกล้องเป็นของส่วนตัวกันได้ง่ายๆ ในราคาที่ไม่แพง แถมคุณภาพของภาพก็สวยงาม เพราะกล้องได้ตั้งโปรแกรมทางการถ่ายภาพไว้เรียบร้อยแล้ว
กล้องดิจิตอล ทำให้การถ่ายภาพเป็นเรื่องที่ง่ายดายสำหรับทุกคน เพียงใช้ปลายนิ้วกดที่ปุ่มชัดเตอร์ ก็จะได้ภาพที่ต้องการบันทึกไว้ภายในเสี้ยววินาที
หาก การถ่ายภาพนั้นเป็นเพียงการถ่ายภาพเล่นๆ เป็นการบันทึกภาพถ่ายแทนความทรงจำ ไม่ได้นำไปใช้ในงาน ก็ไม่น่ายาก หรือมีปัญหาอะไร อย่างภาพการท่องเที่ยว ภาพกิจกรรมกับครอบครัว
แต่ เมื่อเป็นการถ่ายภาพเพื่อการนำไปใช้งาน เช่น การจัดแสดงนิทรรศการ การนำเสนอในคอมพิวเตอร์ ประกอบรายงานการทำงาน จัดพิมพ์ในโปสเตอร์ หนังสือ ฯลฯ ก็มักจะสร้างความตึงเครียดให้กับผู้ถ่ายภาพได้ไม่น้อย หากถ่ายภาพยังไงก็ไม่ได้ดังใจ และไม่สามารถนำไปใช้ในงานได้
เคยสงสัยหรือไม่ ทำไมบางคนถึงถ่ายภาพสวย ถ่ายภาพดี ทั้งๆ ที่ใช้กล้องดิจิตอลเหมือนกัน ผู้เขียนให้ข้อสังเกตไว้ดังนี้ ภาพถ่ายที่แตกต่างกันนั้น มีจุดต่างกันอยู่ตรงที่ “คุณค่าของภาพถ่าย” ซึ่งคุณค่าของภาพถ่ายมีผลมาจาก คุณภาพของกล้อง และความรู้ในมุมมองถ่ายภาพ หรือที่วงการถ่ายภาพเรียกว่าการจัดองค์ประกอบภาพนั่นเอง ดังนั้น ผู้ที่จะถ่ายภาพออกมาได้ดีต้องเป็นผู้ที่รู้จักกล้องที่ตัวเองใช้ และรู้จักจุดเด่นของกิจกรรมของภาพที่จะถ่าย ซึ่งจะทำให้ภาพที่ถ่ายออกมานั้น “มีคุณค่าทางการถ่ายภาพ”
คุณค่าของภาพถ่าย คืออะไร คุณค่าของภาพถ่ายก็คือ ภาพนั้นมีความน่าสนใจ ภาพถ่ายนั้นสามารถนำมาใช้งานได้ ซึ่งภาพถ่ายที่ดี มีคุณค่า ประกอบด้วย ภาพ ถ่ายมีความคมชัด เห็นรายละเอียดสำคัญของภาพ มีการจัดองค์ประกอบภาพที่ดี มีความใหม่ ทันต่อเหตุการณ์ มีขนาดใหญ่พอสมควร สามารถนำมาจัดส่วนภาพได้
ทำ ยังไงให้ภาพถ่ายของเราเป็นภาพถ่ายที่ดี มีคุณค่า เริ่มได้จากการสำรวจกล้องของเรา เพื่อให้เรารู้จักกล้องที่มีอยู่ว่าเป็นอย่างไร มีโหมดในการถ่ายภาพ หรือโปรแกรมการใช้งานอะไรบ้าง นอกจากโหมดออโต้ การถ่ายภาพอัตโนมัติที่ผู้ถ่ายทุกคนใช้กันเป็นประจำอยู่แล้ว เจ้าของกล้องสามารถอ่านได้จากคู่มือกล้องที่ให้มา หรือทดลองปรับใช้โหมดต่างๆ ที่มีว่าเมื่อถ่ายภาพในสถานที่ และเวลาเดียวกัน แต่ใช้โหมดและโปรแกรมที่เปลี่ยนไปจะให้ลักษณะของภาพที่แตกต่างกันทั้งสี และแสงของภาพเป็นอย่างไร
เรียน รู้การจัดองค์ประกอบภาพ เช่น วางภาพอย่างไรถึงน่าสนใจ การสร้างความสมดุลของภาพ การเน้นจุดเด่น จุดสนใจ จุดสำคัญของภาพอยู่ตรงไหน กิจกรรมที่จะถ่ายจะมีอะไรน่าสนใจ การจัดองค์ประกอบศิลป์ในการถ่ายภาพ เป็นต้น ทั้งนี้นอกจากจะเรียนรู้หลักการจัดองค์ประกอบภาพจากแหล่งต่างๆ แล้ว ผู้เขียนขอเสนอให้สังเกตการจัดองค์ประกอบภาพจากงานโฆษณาต่างๆ ในนิตยสาร วารสาร และหนังสือต่างๆ ด้วย เพราะงานเหล่านี้ผ่านกระบวนการคิดของครีเอทีฟ ฝ่ายศิลป์ นักถ่ายภาพที่เป็นมืออาชีพมาแล้วทั้งสิ้น
ทั้ง นี้ การรู้จักสังเกตสิ่งที่เราจะถ่ายไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ ต้นไม้ สัตว์ สิ่งของต่างๆ หรือพฤติกรรมมนุษย์จะทำให้เราสามารถมองเหตุการณ์ สถานการณ์หรือคาดการณ์ของภาพที่จะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า ทำให้ได้ภาพถ่ายที่ทันเหตุการณ์ นอกจากนี้ในบางครั้งอาจต้องมีการจัดเตรียมสถานการณ์ และต้องนัดคิวการถ่ายภาพกันเสียให้เรียบร้อยล่วงหน้าก่อนอีกด้วย
ทั้ง หมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้โหมดการถ่ายภาพ การจัดองค์ประกอบภาพ การจัดเตรียมสถานการณ์ ต้องอาศัยการฝึกฝน ฝึกสังเกต ทดลอง เปรียบเทียบ แล้วคุณจะได้ภาพถ่ายที่ดี มีคุณค่า สามารถนำไปใช้งานได้ ไว้คราวหน้า จะเขียนลงลึกถึงการจัดองค์ประกอบภาพยังไงให้น่าสนใจในโอกาสต่อไปค่ะ
...............................................................
เรียบเรียงบทความโดย : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ
สำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมปศุสัตว์