เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

กรมปศุสัตว์แจงนกปากห่างตายที่จังหวัดอ่างทอง (87/2555)

กรมปศุสัตว์เข้าตรวจสอบนกปากห่างตายที่จังหวัดอ่างทองแล้ว พบส่วนมากลูกนกที่ตายจากการขาดอาหาร น้ำ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด แม้ผลตรวจเบื้องต้นไม่พบอาการของโรคไข้หวัดนก แต่ก็จัดส่งตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป

               นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบนกปากห่างตายกว่า 200 ตัว ที่จังหวัดอ่างทองแล้ว พบว่าส่วนมากเป็นซากลูกนกแห้งตาย เนื่องจากสภาพร่างกายที่อ่อนแอ ขาดอาหาร น้ำ กินอย่างเพียงพอ เบื้องต้นไม่พบร่องรอยของการเกิดโรคไข้หวัดนก แต่ก็ได้จัดส่งซากนกที่ตายใหม่ๆ ไปตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการ และจัดการเผาและฝังซากนกที่ตายทั้งหมด พร้อมทั้งฉีดยาฆ่าเชื้อบริเวณปากหลุม บริเวณที่เป็นที่อยู่อาศัยของนกทั้งหมด พร้อมประสานเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชในการร่วมกันเฝ้าระวังโรคในนกธรรมชาติ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการเฝ้าระวังโรคในคนต่อไป

              ตามที่มีข่าวปรากฏทางสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2555 ว่ามีนกปากห่างตายเป็นจำนวนมากที่หมู่ 1 ตำบลหนองแม่ไก่ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง นั้น สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอ่างทองร่วมกับด่านกักสัตว์สุพรรณบุรีและเจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแม่ไก่เข้าพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที พบว่ามีนกปากห่างอาศัยอยู่บนต้นไม้ประมาณ 10,000 ตัว ในเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ มีบ้านเรือนของประชาชนในหมู่บ้านประมาณ 70 หลังคาเรือน ซึ่งห่างจากแหล่งที่นกอาศัยอยู่ประมาณ 2-3 กิโลเมตร มีเพียง 3-4 หลังคาเรือนที่อยู่ใกล้กับที่อาศัยของนกดังกล่าว สำหรับนกปากห่างที่ตายเกือบทั้งหมดเป็นลูกนก โดยทยอยตายประมาณ 200-300 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่ลักษณะซากแห้ง ตายมานานแล้ว สาเหตุการตายเบื้องต้นคาดว่าเกิดจากอากาศที่ร้อนจัดทำให้ลูกนกปากห่างมีความเครียดอ่อนแอ ตกลงมาจากต้นไม้ ประกอบกับไม่มีอาหารกิน อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ได้เข้าดำเนินการ ดังนี้

               1) เก็บตัวอย่างซากนกที่ตายใหม่ๆ 3 ตัวอย่าง ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ บางเขน กรุงเทพฯ เรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นไม่พบอาการหรือรอยโรคของโรคไข้หวัดนกแต่อย่างใด

               2) เผาและฝังกลบซากนกที่ตายทั้งหมด พร้อมทั้งฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณปากหลุม   ที่ฝังกลบ

               3) ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในบริเวณพื้นดินและต้นไม้ที่เป็นที่อาศัยของนกปากห่างทั้งหมด

               4) ค้นหาโรคระบาดในพื้นที่ใกล้เคียง โดยตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกทุกหลังคาเรือนในหมู่บ้าน และเก็บตัวอย่างอุจจาระสัตว์ปีกส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ หากพบว่าป่วยหรือตายสงสัยเป็นโรคจะดำเนินการควบคุมโรคตามมาตรการที่กำหนดทันที

               5) ประสานกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชในการร่วมกันเฝ้าระวังโรคในนกธรรมชาติ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการเฝ้าระวังโรคในคน

               6) ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรและประชาชนทราบถึงแนวทางป้องกันโรค

               อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนในปัจจุบัน     ทำให้สัตว์ที่เลี้ยงอยู่มีความเครียด อ่อนแอ และกินอาหารลดลง จึงขอให้เกษตรกรหมั่นดูแลสุขภาพ   สัตว์ปีก และจัดเตรียมอาหาร น้ำสะอาดให้เพียงพอ พร้อมดูแลโรงเรือนให้อยู่ในสภาพดี ไม่มีรู รอยรั่ว หรือหาทางป้องกันแดด ลม ฝน หากพบสัตว์ปีกที่เลี้ยงป่วยตายผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ปศุสัตว์ตำบล อาสาปศุสัตว์ อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ในพื้นที่ทันที หรือโทรแจ้งสายด่วนกรมปศุสัตว์   ที่เบอร์ 085-660-9906

                                     """""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""" 

ข้อมูล/ข่าว : ส่วนโรคสัตว์ปีก สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์

เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ :  น้องนุช  สาสะกุล  นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์