ประเทศไทยสั่งชะลอการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์จากโค กระบือ แพะ แกะ จากประเทศสหรัฐอเมริกาจนกว่าจะตรวจสอบข้อมูลสถานการณ์โรคให้มั่นใจอีกครั้ง
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่ากระทรวงเกษตรแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (USDA) แถลงพบโคนมเป็นโรควัวบ้า หรือ Bovine Spongiform Encephalopathy (BSE) จำนวน 1 ตัว ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศสหรัฐอเมริกายืนยันว่าซากสัตว์ที่เป็นโรคจะถูกทำลาย และไม่เข้าสู่กระบวนการฆ่าเพื่อเป็นอาหารของผู้บริโภคแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามจากการที่กระทรวงเกษตรแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (USDA)แจ้งพบโรค BSE เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 ดังกล่าว กรมปศุสัตว์จึงได้ชะลอการนำเข้าโค แพะ แกะ และซากของสัตว์ดังกล่าวไว้ชั่วคราวจนกว่าจะตรวจสอบข้อมูลสถานการณ์โรคให้มั่นใจอีกครั้งหนึ่งก่อน
กระทรวงเกษตรฯ ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า การบริโภคเนื้อโค แพะ แกะ มีความปลอดภัย และโค กระบือ แพะ แกะ ของประเทศไทยไม่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรควัวบ้าอย่างแน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ดำเนินมาตรการการป้องกันและควบคุมโรควัวบ้ามาอย่างต่อเนื่อง มีการตรวจสอบ ควบคุมคุณภาพ และแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากต่างประเทศอย่างเข้มงวด และมีการติดตามเฝ้าระวังการเกิดโรคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนี้
- ชะลอการนำเข้าโคมีชีวิตและซากโค แพะ แกะ จากประเทศที่มีการระบาดของโรควัวบ้า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 เป็นต้นมา จนถึงปี พ.ศ.2548 ซึ่งองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศได้ระบุ สินค้าที่ไม่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรควัวบ้า จำนวน 8 รายการ ได้แก่ นม น้ำเชื้อและตัวอ่อน หนังสัตว์ เจลาตินคอลลาเจน ไขมันสกัด ไดแคลเซียมฟอสเฟต เลือด และเนื้อโคถอดกระดูกที่มาจากโคอายุน้อยกว่า 2.5 ปี ประเทศไทยจึงอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะสินค้า 8 รายการดังกล่าวเท่านั้น โดยประเทศผู้ส่งออกจะต้องผ่านการตรวจรับรองจากกรมปศุสัตว์ว่าสินค้ามาจากฟาร์มที่มีระบบป้องกันโรคที่ดีและโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานสามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าได้เท่านั้น
- ห้ามนำเข้าเนื้อป่นและกระดูกป่น (Meat and Bone Meal, MBM)จากสัตว์เคี้ยวเอื้อง จากประเทศที่มีโรควัวบ้าเข้ามาใช้ในระบบอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 และเก็บตัวอย่าง MBM นำเข้าที่ผลิตจากสัตว์ชนิดอื่นตรวจสอบหา DNA ของสัตว์เคี้ยวเอื้องป้องกันการปลอมปน MBM จากสัตว์เคี้ยวเอื้อง
- การเฝ้าระวังโรคในประเทศ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างสมองโคที่โรงฆ่าและโคที่มีอาการทางระบบประสาทอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา จำนวน 7,722 ตัวอย่าง โดยผลการตรวจวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการ ให้ผลการตรวจเป็นลบทุกตัวอย่าง ซี่งจากมาตรการที่เข้มงวดและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เป็นลบ กรมปศุสัตว์จึงดำเนินการตามขั้นตอนการขอรับรองสถานภาพประเทศปลอดโรควัวบ้า จาก OIE ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประเมินความเสี่ยง โดยผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก และจะส่งให้ OIEพิจารณาในปี พ.ศ.2556
สำหรับข้อมูลปริมาณการนำเข้าเนื้อโคถอดกระดูกจากประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ในปี 2554 มีการนำเข้าจำนวน 58,969 กิโลกรัม มูลค่า 29,484,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า 1.80 % ส่วนในปี 2555 ตั้งแต่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2555 ได้มีการนำเข้าแล้ว 37,599 กิโลกรัม มูลค่า 18,799,500 คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า 2.89 %
""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์
เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์