เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

กระบือนมพันธุ์เมซานี (บทความ 8/2556)

กรมปศุสัตว์ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เลี้ยงดูกระบือนมพันธุ์เมซานี (Mehsani) ที่รัฐบาลอินเดียน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2542 จำนวน 50 ตัว ซึ่งได้นําไปเลี้ยงขยายพันธุ์และศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ที่หน่วยบํารุงพันธุ์สัตว์พบพระ ศูนย์วิจัยและบํารุงพันธุ์สัตว์ตาก จังหวัดตาก ต่อมาย้ายไปเลี้ยงดูที่สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์บุรีรัมย์ ส่วนหนึ่งเลี้ยงดูที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ในความดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง

                    ลักษณะประจำพันธุ์กระบือเมซานี ลำตัวมีสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม อาจมีสีขาวบริเวณหน้าผากและปลายพู่หาง เขาม้วนงอ ลำตัวหนาลึก เป็นกระบือนมขนาดกลาง เต้านมมีขนาดใหญ่ ได้สัดส่วน ให้นมดี และมีความสมบูรณ์พันธุ์ดี น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ เพศผู้ 550 - 600 กก. เพศเมีย 400 - 450 กก.ปริมาณการใหนมเฉลี่ย 7 - 8 ลิตร/วัน มีไขมัน 7 - 8 % โปรตีนรวมแร่ธาตุต่างๆ ประมาณ 9 % ระยะเวลาการให็นมประมาณ 300 วัน

                                การจัดการเลี้ยงดู การผสมพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ ได้ทําการคัดเลือกพ่อพันธุ์ที่มีสุขภาพสมบูรณ์ อัตราการเจริญเติบโตดี ลักษณะตรงตามพันธุ์ไว้เป็นพ่อพันธุ์ คุมฝูงแม่พันธุ์ จํานวน 20 - 25 แม่/ฝูง และสลับเปลี่ยนพ่อ พันธุ์ทุกๆ 3 เดือน การให้อาหาร ในช่วงฤดูฝนจะเลี้ยงแบบปล่อยแทะเล็มระบบหมุนเวียน และเสริมด้วยอาหารข้น โปรตีน 14 % ในอัตรา 1 กก./หน่วยปศุสัตว์ และอัตรา 2 กก./ตัว ในฝูงกระบือรีดนม ช่วงฤดูแล้งจะเลี้ยงแบบขังคอก ให้หญ้าหมักและหญ้าแห้ง โดยให้กินเต็มที่และเสริมด้วยอาหารข้นโปรตีน 14 % อัตรา 1 กก./หน่วยปศุสัตว์ และอัตรา 2 กิโลกรัม/ตัว ในฝูงกระบือรีดนม การจัดการฝูงกระบือ จัดแยกเป็นฝูงตามขนาดน้ำหนักตัว เช่น ฝูงท้องว่าง ฝูงผสมพันธุ์ ฝูงรีดนม ฯลฯ ส่วนลูกกระบือจะทําการแยกเลี้ยงไว้ต่างหาก ตั้งแต่แรกคลอดและรีดน้ำนมให้ลูกกระบือกิน ทำการเก็บข้อมูล ด้านปริมาณน้ำนมและองค์ประกอบทางเคมีของน้ำนม การสุขาภิบาลและป้องกันโรค ถ้ายพยาธิทุกๆ 6 เดือน และทําวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเ่ืปื่อย 2 ครั้ง/ปี นอกจากนั้นยังได้ดําเนินการตามโครงการสร้างสถานภาพฟาร์ม   ปลอดโรค โดยการตรวจสอบโรคทูเบอร์คูโลซีส พาราทูเบอ์คูโลซีส และโรคแท้งติดต่อ ตามนโยบายของกรมปศุสัตว์ ซึ่งได้ดําเนินการติดต่อกันมาเป็นระยะเวลา 3 ปี จากการตรวจสอบยังไม่มีการพบโรคดังกล่าว การรีดนม 2 ครั้ง/วัน โดยใช้เครื่องรีดนมแบบ Bucket Type ปรับปรุงมาจากเครื่องรีดนมโค การเจริญเติบโต กระบือเมซานี มีน้ำหนักแรกเกิด เฉลี่ย 33.77 กก. น้ำหนักหย่านม (240 วัน) เฉลี่ย 252 กก. และมีอัตราการเจริญเติบโตก๋อนหย่านม เฉลี่ย 930 กรัม/ตัว/วัน    ความสมบูรณ์พันธุ์ กระบือเพศเมีย มีช่วงห่างการให้ลูก เฉลี่ย 437.29 วัน โดยเก็บข้อมูลช่วงห่างของการให้ลูกระหว่างลูกเกิดตัวที่ 1-3 ส่วนกระบือนมเมซานีเพศผู้สามารถเริ่มเข้าฝูงผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ 3 ปี มีน้ำหนักประมาณ 450 กก. แนวทางการปรับปรุงพันธุ์ เลี้ยงและศึกษาในสถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์บุรีรัมย์ กรมปศุสัตว์ ที่นำมาเลี้ยงขยายพันธุ์และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเจริญเติบโต คุณภาพของน้ำนม ผลิตภัณฑ์นม และความเป็นไปได้ในการผลิตขยายพันธุ์ทั้งกระบือเมซานีพันธุ์แท้ และกระบือลูกผสม  

                                วัตถุประสงค์ เพื่อปรับปรุงพันธุ์กระบือนมในประเทศ ให้มีสมรรถภาพการให้นมสูงขึ้น มีความสมบูรณ์พันธุ์สูง โตเร็ว ชะลอการลดจำนวนกระบือของประเทศ จำแนกและประเมินคุณค่าความหลากหลายทางพันธุศาสตร์ อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมที่ดีให้คงอยู่ภายในประเทศ และ เพื่อศึกษาเทคโนโลยีระบบการผลิตกระบือนม เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนมและคุณภาพเนื้อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ เป็นการลดการนำเข้าสัตว์และผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศ และสามารถส่งออกต่างประเทศในอนาคต รวมทั้งเพื่อศึกษาปัจจัยบางประการที่มีผลต่อความสำเร็จในการเลี้ยงกระบือนมของกลุ่มเกษตรกร ได้แก่ สภาพทั่วไปของเกษตรกร สภาพพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม การยอมรับของเกษตรกรต่อการเลี้ยงกระบือนมร่วมกับการทำเกษตรแบบผสมผสาน และความพึงพอใจของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเลี้ยงกระบือนม การศึกษาวิจัย ดำเนินการในสถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์บุรีรัมย์ โดยใช้กระบือนมแม่พันธุ์แท้ 33 ตัว พ่อพันธุ์ที่มีอยู่ 4 ตัว กระบือรุ่น 32 ตัว ลูกกระบือ 12 ตัว ผสมและคัดเลือกพันธุ์ ให้ได้กระบือนมพันธุ์ที่เหมาะสมกับการเลี้ยงในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ในระยะเวลา 8 ปี ให้ได้กระบือนมพันธุ์แท้เพศเมีย 50 ตัว โดยใช้พ่อพันธุ์ 8 ตัว เป็นพ่อพันธุ์เดิม 3 ตัว และนำเข้าน้ำเชื้อพ่อพันธุ์จากต่างประเทศ 5 ตัว เพื่อป้องกันการเกิดอัตราเลือดชิด มีแผนการดำเนินงานและเป้าหมาย คือ เก็บกระบือสาวทดแทนในฝูงปีละ 20% (7 ตัว) โดยคัดเลือกกระบือแม่พันธุ์ที่มีรูปร่างลักษณะดี ตรงตามสายพันธุ์ มีประวัติการให้น้ำนมดี เก็บไว้สร้างฝูงขยายฐานการผลิตและปรับปรุงพันธุ์ และคัดออกแม่พันธุ์ปีละ 10% (3-4 ตัว)   ส่วนกระบือเพศผู้ที่เกิดในฝูง 9 ตัว นำเข้าทำการทดสอบสมรรถภาพการเจริญเติบโต คัดเลือกกระบือเพศผู้ที่มีรูปร่างลักษณะดีตรงตามสายพันธุ์ มีประวัติเกิดจากแม่ที่ให้ปริมาณน้ำนมดี เข้าทดสอบความสมบูรณ์พันธุ์เพื่อใช้เป็นพ่อพันธุ์คุมฝูงและรีดน้ำเชื้อ ส่วนที่เหลือจำหน่ายให้เกษตรกรเครือข่ายเพื่อนำไปเป็นพ่อพันธุ์ผสมกับแม่พันธุ์พื้นเมือง เพื่อเป็นกระบือนมลูกผสม

                                ซึ่งคาดว่ากระบือนมพันธุ์ใหม่ที่สามารถเลี้ยงดูโดยเกษตรกรรายย่อย สามารถจำแนกและประเมินคุณค่าความหลากหลายทางพันธุศาสตร์ ตลอดจนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมที่ดีให้คงอยู่ภายในประเทศ ทั้งเพิ่มทางเลือกในการบริโภคนมและผลิตภัณฑ์นม ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศ ทราบระบบกลไกการตลาดในการเพิ่มผลผลิตกระบือของเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายทั้งด้านปริมาณและคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งผลผลิตกระบือของเกษตรกรมีประสิทธิภาพสูงขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ทั้งด้านการให้ผลผลิตน้ำนม การเจริญเติบโต ความสมบูรณ์พันธุ์ การให้ผลผลิตเนื้อ รวมทั้งทำให้พ่อแม่พันธุ์กระบือมีชั่วอายุการให้ผลผลิตสูงขึ้น ประโยชน์ จากการศึกษาข้อมูลการเลี้ยงดู พบว่า กระบือเมซานีปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้ดี สุขภาพทั่วไปสมบูรณ์ กระบือนมเมซานีเพศผู้มีลักษณะลําตัวหนาลึก ลูกกระบือมีอัตราการเจริญเติบโตดีและรูปร่างค่อนข้างหนา กล้ามเนื้อมาก น่าจะเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือ เพื่อผลิตกระบือเนื้อคุณภาพดี  ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์เพื่อเป็นกระบือนม นำพ่อพันธุ์กระบือเมซานีพันธุ์แท้ไปผสมกับกระบือเพศเมียของเกษตรกร เพื่อยกระดับสายเลือด โดยการเลี้ยงดูในฟาร์มเครือข่ายและเกษตรกรรายย่อย โดยมีเป้าหมายในฟาร์มเกษตรกร 50 - 100 ราย และที่เป็นฟาร์มเครือข่ายผู้เลี้ยงกระบือของกรมปศุสัตว์ และการปรับปรุงพันธุ์เพื่อเป็นกระบือเนื้อลูกผสม จะวางแผนผสมพันธุ์ผลิตเป็นกระบือลูกผสม ที่มีระดับสายเลือดกระบือนม 50 % โดยใช้พ่อพันธุ์กระบือเมซานีหรือในรูปน้ำเชื้อในเกษตรกรฟาร์มเครือข่าย ทำการทดสอบการเจริญเติบโต และศึกษาคุณภาพซากในกระบือเพศผู้ หรือจำหน่ายให้เกษตรกรรายย่อยอื่นๆ ต่อไป

 *********************************************

ข้อมูล : สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์

เรียบเรียง : พิจารณา สามนจิตติ นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์