แพะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่นเดียวกับโค กระบือ แต่จะมีขนาดเล็ก โดยมีขนาดน้ำหนักตัวประมาณ ๓๕-๓๖ กิโลกรัม และมีความสูงเฉลี่ย ๕๕-๑๐๐ เซนติเมตร ซึ่งขนาดตัวจะแปรผันไปตามแต่เพศ พันธุ์ สิ่งแวดล้อม ปัจจัยด้านสุขภาพสัตว์ และคุณภาพของอาหารที่แพะได้รับ
แม้ปัจจุบันจะมีการเลี้ยงแพะกันโดยทั่วไปและนำเอานมแพะมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องสำอาง เช่นสบู่ โลชั่นต่างๆ หรือแม้แต่กระทั่งนำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น ไอศกรีมนมแพะ เป็นต้น แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความสามารถและเทคโนโลยีในด้านการเลี้ยง การจัดการฟาร์มที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมถึงพันธุ์ที่ดีที่จะนำมาปรับปรุงพันธุ์ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นเพื่อเป็นการรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องร่วมกันค้นหาแนวทางการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะให้มีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย กรมปศุสัตว์จึงได้มีการจัดงานวันแพะแห่งชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้จะเป็นครั้งที่ ๑๐ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๑-๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๖ ณ ลานนิทรรศการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย จังหวัดสระบุรี เพื่อให้ความรู้ด้านการเลี้ยงแพะที่ถูกต้องแก่เกษตรกร
โดยปกติแพะตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่าแพะตัวผู้ หรือพันธุ์แท้ส่วนใหญ่จะมีขนาดใหญ่กว่าพันธุ์ลูกผสมหรือพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งแพะพันธุ์แท้ในแถบประเทศเขตหนาวและเขตอบอุ่นส่วนใหญ่จะมีขนาดใหญ่ แพะเป็นสัตว์ที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย และเป็นสัตว์เลี้ยงที่น่าส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่น เพราะ เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ได้เร็ว และมีข้อดีอีกมากมาย คือ
- แพะเป็นผลผลิตทั้งเนื้อและนม มีขนาดเล็ก ทำให้ผู้หญิงหรือเด็กสามารถให้การดูแลได้
- แพะเป็นสัตว์ที่หาอาหารกินเองได้เก่ง กินอาหารได้หลายชนิด
- แพะมีการเจริญเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาวได้เร็ว สามารถผสมพันธุ์แพะได้ตั้งแต่อายุเพียง ๘ เดือน
- แพะมีความสมบูรณ์พันธุ์สูง แม่แพะมักคลอดลูกแฝด และใช้ระยะเวลาเลี้ยงลูกสั้นจึงทำให้ตั้งท้องได้ใหม่
- แพะเป็นสัตว์ที่สามารถปรับเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ความทนต่อสภาพอากาศแล้งและร้อนได้ดี
อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลี้ยงและการดูแลแพะก็จะทำให้การเลี้ยงแพะเป็นไปอย่างถูกต้อง มีการจัดฟาร์มตามหลักวิชาการ ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยง ผู้ค้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาผลผลิต และผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสอดคล้องกับตลาดทั้งภายในและต่างประเทศรวมทั้งการผลักดันให้เป็นสินค้าปศุสัตว์เพื่อการส่งออกต่อไปในอนาคต
...............................................................
ผู้สนใจสามารถขอรับบทความได้ที่ ส่วนการประชาสัมพันธ์ สำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ ถนนพระราม ๖ เขตพญาไท กรุงเทพ ๑๐๔๐๐ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์หมายเลข ๐๒-๖๑๘-๒๓๒๓ ต่อ ๑๖๒๖-๒๗
ธีมาพร พิมพ์
..........................ผู้ตรวจทาน
......................... /พ.ค. /๕๖