กรมปศุสัตว์ร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จัดประชุมหารือด้านนโยบายและเทคนิคในการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ในเอเชีย ระหว่างวันที่ 24 – 25 มิถุนายน 2556 โดยมี นายสัตวแพทย์ยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ณ โรงแรมรอยัลออร์คิดเชอราตัน (ติดท่าน้ำสี่พระยา) ถนนเจริญกรุง บางรัก กรุงเทพฯ
นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดนก ประจำปี 2556 –ปัจจุบัน (18 มิถุนายน 2556) ว่า ประเทศไทยปลอดจากโรคหวัดนก เป็นเวลา 4 ปี 7 เดือน ส่วนสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกทั่วโลกล่าสุด Promedmail รายงานเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2556 ประเทศแอฟริกาใต้พบ ไข้หวัดนก LPAI H7N7 ในฟาร์มนกกระจอกเทศ : http://www.promedmail.org/direct.php?id=20130619.1782086 พบการระบาดไข้หวัดนก LPAI H7N7 ในเดือนเมษายน 2556 ในฟาร์มนกกระจอกเทศ 6 ฟาร์ม ใกล้ Oudtshoom ใน Western Cape โดยรองอธิบดีกรมเกษตรเมือง Western Cape แถลงเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 56 ว่า เชื้อดังกล่าวถูกกระจายโดยนกธรรมชาติ และการพบการระบาดก็สามารถพบได้ในทุกฤดูหนาว รายงานจาก OIE ยังไม่มี H7N9 เพิ่มเติม โดยสรุปจากข้อมูล การพบเชื้อ H7N9 ที่รายงานบนเว็บไซต์ OIE ซึ่งรายงานล่าสุดวันที่ 21 พ.ค.56 สรุปพบ H7N9 รวมจำนวน 20 จุด โดยพบผลบวกจำนวนรวม 52 ตัวอย่าง ด้านสถานการณ์ โรคไข้หวัดนกในคนทั่วโลก นั้น WHO ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยด้วยไข้หวัดนกเพิ่มเติมโดยมีรายงานล่าสุด เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 : http://www.who.int/csr/don/2013_05_29/en/index.html จาก WHO ว่า มีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตด้วย H7N9 คือ ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นผู้ป่วย 131 ราย เสียชีวิต 37 ราย จากมณฑลอานฮุย (Anhui) ป่วย 4 ราย เสียชีวิต 2 ราย มณฑลเหอหนาน (Henan) ป่วย 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย มณฑลเจียงซู (Jiangsu) ป่วย 26 ราย เสียชีวิต 8 ราย มณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) ป่วย 46 ราย เสียชีวิต 7 ราย มณฑลซานตง (Shandong) ป่วย 5 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต มณฑลเจียงซี (Jiangxi) ป่วย 5 ราย เสียชีวิต 1 ราย มณฑลฝูเจี้ยน (Fujian) ป่วย 5 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต มณฑลหูหนาน (Hunan) ป่วย 3 ราย เสียชีวิต 1 ราย นครปักกิ่ง (Beijing) ป่วย 2 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต นครเซียงไฮ้ (Shanghai) ป่วย 34 ราย เสียชีวิต 13 ราย และมีที่ไม่ทราบรายละเอียด เสียชีวิตอีก 4 ราย ส่วนในไต้หวัน นั้น มีผู้ป่วย 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมผู้ป่วยทั้งสิ้น 132 ราย เสียชีวิต 37 ราย
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึง การเฝ้าระวังและควบคุมโรคไข้หวัดนก H7N9 ว่า กรมปศุสัตว์ได้จัดทำแผนการเฝ้าระวังควบคุมโรคในสัตว์ปีก เพื่อการเตรียมความพร้อม โดยการตั้งศูนย์ปฏิบัติการ เฝ้าระวังและติดตามโรคไข้หวัดนก H7N9 มีการดำเนินการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุและเตรียมความพร้อมการ เฝ้าระวังและควบคุมโรคไข้หวัดนก(H7N9) บนโต๊ะ(Table-top Exercise) ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกและพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ตามแนวชายแดน เป็นการเฝ้าระวังโรคเชิงรุกทางอาการ และมีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ในพื้นที่ตำบลที่ติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้านรัศมี 10 กิโลเมตร เฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ โดยสุ่มเก็บตัวอย่าง cloacal swab ในสัตว์ปีกเลี้ยงบริเวณบ้านในพื้นที่ตำบลที่ติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้านรัศมี 5 กิโลเมตร จำนวน 7,068 ตัวอย่าง ให้ผลเป็นลบทุกตัวอย่าง นอกจากนี้ ให้เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ช่วงเดือนกรกฎาคม 2556 ทั้งเฝ้าระวังโรคเชิงรุกทางอาการ และเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ ให้สุ่มเก็บตัวอย่าง oropharyngeal swab ในสัตว์ปีกเลี้ยงบริเวณบ้านในพื้นที่ตำบลที่ติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้านรัศมี 5 กิโลเมตรและในสัตว์ปีกที่เลี้ยงบริเวณพื้นที่แหล่งทำรังวางไข่ของนกในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบบริเวณพื้นที่แหล่งทำรังวางไข่ จำนวนรวมทั้งสิ้น 2,708 ตัวอย่าง มีการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ( ไก่ เป็ด และสัตว์ปีกสวยงาม) ช่วงเดือนกรกฎาคม 2556 โดยมีการเฝ้าระวังโรคเชิงรุกทางห้องปฏิบัติการในตลาดค้าไก่-เป็ด มีชีวิตเพื่อการบริโภคให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุ่มเก็บตัวอย่าง oropharyngeal swab ในสัตว์ปีก ในตลาดค้าสัตว์ปีกทุกแห่ง และสุ่มเก็บตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำกินสำหรับไก่ พื้นผิวบริเวณโต๊ะวางซาก พื้นผิวบริเวณกรงไก่ เป็นต้น จำนวน 243 ตัวอย่างรวมทั้งมีการเฝ้าระวังโรคเชิงรุกทางห้องปฏิบัติการในตลาดค้าสัตว์ปีกสวยงามในกรุงเทพมหานคร ให้สำนักงาน ปศุสัตว์กรุงเทพมหานคร เก็บตัวอย่างจากร้านค้าสัตว์ปีกสวยงาม โดยสุ่มเก็บตัวอย่าง oropharyngeal swab จำนวน 12 ตัวอย่าง ( สัตว์ปีก 60 ตัว ต่อ1 ตลาดฯ)
ส่วนการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในฟาร์มมาตรฐานและฟาร์มคอมพาร์ทเมนต์ และฟาร์มที่ไม่รับรองมาตรฐานฟาร์มทุกจังหวัด ช่วงเดือนกรกฎาคม 2556 มีการเฝ้าระวังโรคเชิงรุกทางห้องปฏิบัติการในฟาร์มมาตรฐานและฟาร์มคอมพาร์ทเมนต์ (ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ไก่พันธุ์ นกกระทา) และฟาร์มที่ไม่รับรองมาตรฐานฟาร์มในพื้นที่จังหวัด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุ่มฟาร์มที่จะเก็บตัวอย่าง จำนวนรวมทั้งสิ้น 4 ฟาร์มต่อจังหวัด จำนวนรวมทั้งสิ้น 308 ฟาร์ม สุ่มเก็บตัวอย่าง oropharyngeal swab ฟาร์มละ 30 ตัว (6 หลอดตัวอย่าง) รวมทั้งสิ้น 1,848 ตัวอย่าง ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเข้าตรวจสอบและเก็บตัวอย่างอุจจาระและซากของนกอพยพ และนกธรรมชาติในแหล่งที่นกอาศัยอยู่ ไม่อนุญาตให้นำไก่ เป็ด ห่าน และนก รวมถึงไข่ที่ใช้ สำหรับทำพันธุ์ และซากสัตว์ปีกดังกล่าว จากประเทศที่มีรายงานโรคไข้หวัดนกเข้าราชอาณาจักรจนกว่าสถานการณ์โรคจะสงบ ให้ด่านกักกันสัตว์ใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจค้นสัมภาระนักท่องเที่ยวที่เดินทางหาสัตว์และซากสัตว์ที่อาจมีการลักลอบนำเข้าประเทศ ด้านมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในนกพิราบแข่งที่ขออนุญาตเคลื่อนย้ายจากกรมปศุสัตว์ ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในนกพิราบแข่งที่ขออนุญาตเคลื่อนย้ายจากกรมปศุสัตว์ โดยเก็บตัวอย่างนกพิราบแข่งของสมาชิก ทุกกรง ๆ ละ 5 ตัว โดยเก็บตัวอย่างทุก ๆ 2 เดือน ปัจจุบันมีสมาชิก 300 ราย
ด้านการดำเนินการ ก่อนการเคลื่อนย้ายนกพิราบ นั้น กรมปศุสัตว์มอบหมายให้ด่านกักสัตว์กรุงเทพฯ ทางน้ำ ดำเนินการเก็บตัวอย่าง โดยวิธีการ swab เพื่อตรวจหาเชื้อไข้หวัดนก จากนกพิราบของสมาคมทุกกรงที่จะเข้าแข่งขันในรอบนั้นๆ การเก็บตัวอย่างตรวจจะเก็บทุกๆ 60 วัน ส่วนวิธีการเก็บตัวอย่าง ก่อนการเคลื่อนย้ายนกพิราบ สมาคมทั้งหมดที่ร่วมแข่งขันในช่วงนั้นๆ จะต้องนำนกพิราบมาตรวจตามกำหนดวันนัดหมาย โดยกรมปศุสัตว์จะแจ้งให้สมาคมทราบ มีการเก็บตัวอย่างจะเก็บตัวอย่าง 1 ตัวอย่าง ต่อ 1 กรง 1 ตัวอย่างจะมีนกพิราบ 5 ตัว ตัวอย่างที่เก็บจะนำส่งไปตรวจที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออก นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของด่านกักสัตว์ได้ตั้งจุดพ่นยาฆ่าเชื้อในบริเวณจุดผ่านแดน โดยให้พ่นยานพาหนะทุกคันที่สงสัยว่ามีการปนเปื้อนเชื้อโรค ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน ตลอดจนรถเข็น โดยเน้นให้ฉีดพ่นด้วยเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อแรงดันสูงที่ล้อรถและบริเวณใต้ท้องรถ หากเป็นรถบรรทุกสัตว์ให้ฉีดพ่นทั้งบริเวณ ที่บรรทุกสัตว์ให้เปียกชุ่ม หน่วยงานที่รับผิดชอบบริเวณแนวชายแดนมีการพบปะหารือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านโรคระบาดสัตว์ ระหว่างเจ้าหน้าที่ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นประจำทั้งอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ที่สำคัญคือ จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนบริเวณแนวชายแดน ตลอดจนผู้ที่เดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรให้ระมัดระวังป้องกันโรคไข้หวัดนก และขอความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสการลักลอบนำเข้าสัตว์ปีกและซากสัตว์ปีก
-------------------------------------------------------------
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ข่าว : เพ็ญศิริ ดวงอุดม กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สสส.