เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

หมูหลุม

สารบัญ

p1010062   หมูหลุม : สนับสนุนหรือต้านกระบวนการอาหารปลอดภัย ?

   ที่มาของหมูหลุม

   “หมูหลุม” เป็นภาษาชาวบ้านที่เลี้ยงหมูแบบขุดหลุมลึก โดยใช้วัสดุรองพื้น ดั้งเดิมมาจาก
    ประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น มีแนวคิดตามหลักการของ “เกษตรกรรมธรรมชาติ” ซึ่งเป็นรูป
    แบบหนึ่งของระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เป็น การ เกษตรที่ไม่เพียงแต่คำนึงถึงผลผลิตจากการ
    เกษตรเท่านั้น แต่มีปรัชญาแนวคิดอยู่เบื้องหลัง เป็นการพัฒนารูปแบบการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความเป็นองค์รวมของระบบนิเวศน์เกษตรในฟาร์ม วงจรชีวภาพห่วงโซ่อาหาร ดิน พืช สัตว์ จุลินทรีย์ พลังธรรมชาติหมุนเวียนจากพลังงานแสงแดด น้ำและดิน นำมาปลูกพืช เลี้ยงสัตว์กินพืช นำปุ๋ยมูลสัตว์มาเพิ่มความอุดมสมบรูณ์ให้กับดิน

               รวมถึงด้านเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่น และการพึ่งพาตนเองในด้านการผลิตและการบริโภคขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่เหมาะสมกับทรัพยากร ภูมิปัญญาในท้องถิ่น และวัฒนธรรมที่มีในชุมชนโดยมีเป้าหมายเชิงนโยบายอยู่ที่การพัฒนาชนบท การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน การอยู่ดีกินดีของคนชนบท และสุขภาพของประชากร นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนในที่สุด

p1010062

               


 

ทฤษฏีเกษตรธรรมชาติ

             การเลี้ยงหมูหลุม เป็นการผลิตเนื้อหมูสำหรับคนบริโภคในท้องถิ่น เน้นเทคนิคด้วยการจัดการคอกไม่ให้มีน้ำเสียจากฟาร์ม มูลสัตว์สามารถกำจัดในคอก โดยการทำงานของจุลินทรีย์ท้องถิ่น ของเสียเหล่านั้นถูกนำกลับเป็นปัจจัยการผลิตในการปลูกพืช ทั้งที่เป็นพืชที่ปลูกเป็นรายได้และพืชที่เป็นอาหารสัตว์ เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ เป็นการหมุนเวียนใช้พลังธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีที่พึ่งพาตนเองได้ในชุมชน

           จุลินทรีย์ เป็นเครื่องมือสำคัญในการเลี้ยงหมูหลุมและเกษตรอินทรีย์ จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพและ นาโนเทคโนโลยีทำให้ทราบบทบาทของจุลินทรีย์และการนำมาใช้ประโยชน์ในการเกษตร สมัยใหม่ เพื่อผลิตอาหารสำหรับมนุษย์ที่ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ซึ่งมีผลเสียต่อ สุขภาพและสิ่งแวดล้อม จุลินทรีย์มี 3 ประเภท คือ

            1) จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ Beneficial microorganism

            2) จุลินทรีย์ก่อโรค Pathogenic microorganism

             3) จุลินทรีย์ที่เป็นกลาง ซึ่งมีหลากหลายชนิดมากและกระบวนการทำงานของจุลินทรีย์มีสิ่งที่มนุษย์ยังไม่สามารถเรียนรู้ได้หมด

p1010050

 

            การเลี้ยงหมูหลุม ใช้ความรู้ในการจัดการคอกและการให้อาหารแก่หมูด้วยบทบาทของจุลินทรีย์ 2 ประการ คือ

             1) บทบาทการย่อยสลาย สารประกอบอินทรีย์ ที่มีโครงสร้างซับซ้อนที่พืชและสัตว์ไม่สามารถย่อยสลายใช้ประโยชน์ได้ เช่น ซากพืช ซากสัตว์ ของเสีย สิ่งขับถ่าย แต่จะมีจุลินทรีย์บางชนิดที่มีในธรรมชาติสามารถย่อยให้เป็นองค์ประกอบที่ไม่ ซับซ้อนทำให้พืชและสัตว์ใช้ประโยชน์ได้ และแร่ธาตุบางชนิดที่เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมเช่น อาร์เซนิค แคดเมี่ยม จะถูกย่อยสลายไม่เป็นพิษสะสมในพืช เป็นต้น

             2) บทบาทการสังเคราะห์สารประกอบอินทรีย์ เช่น สารคล้ายปฏิชีวนะ เอนไซม์ กรดแลคติค ซึ่งเป็นผลผลิตจากการหมักชีวภาพ เช่น การใช้ Probiotics ผสม น้ำหรือผสมอาหารสัตว์ ทดแทนการใช้สารปฏิชีวนะเร่งการเจริญเติบโตในการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งต่างประเทศกำลังนิยมใช้เป็นปัจจัยการผลิตที่เป็นธรรมชาติ ประเทศไทยได้มีการนำเข้ามาใช้มากกว่า 60 ราย แต่Probiotics ที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในประเทศไทย คือ น้ำหมักชีวภาพที่มีสูตรหลากหลาย และนักวิชาการส่วนมากยังไม่ยอมรับนั่นเอง

                การใช้เทคนิคจุลินทรีย์ในการเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย

                ขณะนี้มีเกษตรกรผลิตน้ำหมักชีวภาพใช้ด้วยตนเอง มีกระบวนการผลิตหลายรูปแบบ และใช้พืชตั้งต้นที่แตกต่างกัน ส่วนมากนำไปใช้ในการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง และรักษาสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ เช่น ฟาร์มสุกรแห่งหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ได้ผลิตน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้ ใช้ผสมน้ำให้สุกรกิน ทำให้สุกรมีสุขภาพแข็งแรง ลดอาการท้องเสีย และลดกลิ่นและแมลงวันและน้ำเสียจากการเลี้ยงสุกร ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อยารักษาโรค และสามารถเลี้ยงในชุมชนได้

                นอกจากนี้มีฟาร์มไก่ไข่ในจังหวัดสระบุรี ใช้น้ำหมักชีวภาพ และสมุนไพรเลี้ยงไก่ไข่ทำให้เลิกใช้ปฏิชีวนะผสมในอาหารไก่ไข่ โดยการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐานร่วมด้วย นอกจากนี้มีหัวเชื้อชีวภาพที่เรียกว่า EM(effective microorganism) ผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิคิวเซ พด. ของกรมพัฒนาที่ดิน และเทคนิคจุลินทรีย์ท้องถิ่น Indigenous Microorganism หรือ IMOs ใช้ ในการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมี และชีวภาพมีน้อยมาก ผลของการใช้มีความผันแปรหลากหลาย ไม่มีข้อบ่งใช้ที่จะยืนยันคุณภาพและประสิทธิผล ส่วนมากเป็นการใช้ตามภูมิปัญญาที่ได้พัฒนาด้วยตนเองมาตลอด

              สำหรับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของน้ำหมักชีวภาพนั้น กรมวิชาการเกษตร (2547) ได้เก็บตัวอย่างน้ำหนักชีวภาพทั่วประเทศ 200 ตัวอย่างมาวิเคราะห์ พบว่าแบคทีเรียที่พบในน้ำหมักชีวภาพที่หมักนานกว่า 1 ปี ส่วนมากเป็นแบคทีเรียแกรมบวก ได้แก่ กลุ่มBacillus ,Lactobacillus พบปริมาณน้อยได้แก่ Pediococcus, Streptococcus และ Lueconostic และเชื้อราที่พบเป็นพวกยีสต์ Saccharomyces cerevisiae ซึ่งสอดคล้องกับ Probiotics ที่ มีการผลิตป็นการค้าในต่างประเทศที่กล่าวมาแล้ว

              นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์วิจัย พบว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นเมื่อนำ พืช สัตว์ที่เป็นวัสดุอินทรีย์ไปหมักกับกากน้ำตาลทำให้สารอินทรีย์ไหลออกมาจาก เซลล์โดยกระบวนการพลาสโมไลซีส จุลินทรีย์ที่ติดมากับวัสดุที่หมักจะเจริญเติบโตโดยใช้กากน้ำตาลและสาร ประกอบอินทรีย์เป็นแหล่งอาหารและย่อยสลายสารอินทรีย์ให้มีโมเลกุลเล็กลง สารอินทรีย์และจุลินทรีย์ที่ได้จึงมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับ วัสดุดิบหลักที่ใช้ สภาพแวดล้อมในการหมักน้ำหมักชีวภาพ เป็น เทคโนโลยีชีวภาพท้องถิ่นที่ชาวบ้านสามารถทำเองได้ โดยการนำเอา พืช ผัก ผลไม้ ซากสัตว์ ไปหมักโดยจุลินทรีย์ที่มีในบรรยากาศ และกากน้ำตาลเป็นอาหารของจุลินทรีย์ หรือการใช้หัวเชื้อที่คัดเลือกแล้วเช่น EM หรือ พด. ผ่านกระบวนการหมักบ่มในอุณหภูมิที่เหมาะสม ในระยะเวลาหนึ่ง คุณภาพของน้ำหมักชีวภาพมีความหลากหลายมาก

               จากข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลการใช้ในฟาร์มเกษตรกรดังได้กล่าวมาแล้ว สามารถสรุปได้ในเบื้องต้น กล่าวคือ การใช้สารสกัดจากสมุนไพร และสารสกัดจากพืชโดยกระบวนการหมักบ่มด้วยจุลินทรีย์ที่มีลักษณะจำเพาะ ด้วยระยะเวลาและวิธีการหมักบ่มที่เหมาะสม จะได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์กับสัตว์ซึ่งเป็นกลไกซับซ้อนส่งเสริมซึ่งกัน และกัน (synergistic effects) ดังนี้ คือ

                »เอ็นไซม์ (enzymes) ช่วยย่อยอาหารโปรตีน คาร์โบไฮเดรท ไขมัน เยื่อใยต่างๆ กระตุ้นกระบวนการใช้ประโยชน์อาหาร ทำให้สัตว์ใช้ประโยชน์อาหารที่กินเข้าไปได้
อย่างมีประสิทธิภาพ และลดกลิ่นในมูลสัตว์

                »สารคล้ายปฏิชีวนะ (Bacterocins) ที่ผลิตได้จากจุลินทรีย์ เช่น Pediocins จาก Pediococcus sp.,และ lactic acid และ Hydrogen peroxide จากกลุ่มผลิตกรดแลคติคซึ่งสามารถทำลายเชื้อก่อโรคได้หลายชนิด ได้แก่ Vibrio, E. coli, Salmonella,Camphylobactor,Pseudomonas ,Staphylococcus,และ Clostridium

                »สารทำลายสารพิษของเชื้อก่อโรค (Toxin Killer) ซึ่งผลิตได้จากแบคทีเรียและยีสต์ บางชนิด

                »ไวตามิน บีรวม Thiamine,riboflavin,pyridoxine,niacin,biotin,cholin,B12 ,pantothenic,

                »แร่ธาตุบางชนิด

                ดัง นั้นการใช้สารสกัดชีวภาพ และสารสกัดสมุนไพรจึงมีผลทำให้สุขภาพสัตว์แข็งแรง เจริญเติบโตเร็ว ลดการเกิดโรค ได้ผลผลิต เนื้อ นม ไข่ที่ปลอดภัยจากเชื้อก่อโรคในคน (E.coli, salmonlla) ซึ่งเป็นเชื้อที่ถูกกำหนดในการตรวจคุณภาพเนื้อตามกระบวนการ Food safety

                ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทำให้เกิดกระบวนการทำงาน (mode of action)ที่มีประโยชน์ต่อสัตว์ ดังนี้

                1.Prebiotic effect สารสกัด จากสมุนไพร และจากพืช มีผลส่งเสริมการทำงานของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในทางเดินอาหาร ทำลายจุลินทรีย์ก่อโรค และช่วยย่อยอาหารและดูดซึมอาหารได้ดี เช่น เอนไซน์ ไวตามินต่างๆ

                2.Probiotic effect จุลินทรีย์ที่ทนต่อความเป็นกรดสูงได้แก่ กลุ่มที่ผลิตกรดแลคติก ทำให้เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วในทางเดินอาหาร (ลำไส้)ลดจุลินทรีย์ก่อโรคในลำไส้

                3.Immnological effect ใน ระหว่างกระบวนหมักจุลินทรีย์กลุ่มสร้างกรดแลคติค จะผลิตโปรตีนสายสั้น ที่มีคุณสมบัติกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย หรือจากผนังเซลล์ของยีสต์จะผลิต Beta-glucan ที่มีคุณสมบัติกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มแบบไม่จำเพาะเช่นกัน

                4.ปรับสมดุลย์ของความเป็นกรดด่างในทางเดินอาหาร ส่งเสริมสุขภาพของทางเดินอาหาร ทำให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                อย่าง ไรก็ตามการศึกษาผลของการใช้สารธรรมชาติทั้ง สมุนไพร สารสกัดจากพืช และสารสกัดชีวภาพในการเลี้ยงสัตว์ที่มีผลต่อการเร่งการเจริญเติบโต การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือการฆ่าและทำลายเชื้อยังให้ผลที่ไม่คงที่ ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ขึ้นอยู่กับสภาพการจัดการฟาร์ม ความสะอาด คอกโรงเรือนการถ่ายเทอากาศ การสัมผัสเชื้อโรค ฉะนั้นจึงทำให้ผลการศึกษาที่ได้มีความผันแปรมาก จำเป็นต้องใช้กระบวนการวิจัยสหสาขาวิชาการที่บูรณาการอย่างเป็นระบบ เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น นำมาเป็นนวัตกรรมในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติทดแทนการใช้สารเคมี สังเคราะห์ในการเลี้ยงสัตว์


                เทคนิคการเลี้ยงหมูหลุม

                เทคนิคการเลี้ยงสุกรโดยวิธีเกษตรธรรมชาติ ประเทศเกาหลี

                (อ้างโดย ดร.อานัติ ตันโช 2547 จากหนังสือ เกษตรกรรมธรรมชาติ )

                สถาบันเกษตรธรรมชาติเกาหลี Janong ได้แนะนำให้เกษตรกรเลี้ยงแม่สุกรครั้งละ 30 แม่เพื่อผลิตลูก 600 ตัว/ปี การจัดการฟาร์มแบบเกษตรธรรมชาติทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 40 % แม่บ้าน 1 คนสามารถเลี้ยงสุกรได้ 30 ตัว โดยใช้อาหารที่ทำเอง 60-70 % เป็น การผสมผสานการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มเดียวกัน ใช้สิ่งเหลือใช้จากการเกษตรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด คอกสุกรจากระบบนี้ ไม่ต้องทำความสะอาดและล้างออกไป เป็นระบบการจัดการหมุนเวียนที่เกิดขึ้นในฟาร์มอย่างสมบรูณ์ มูลสุกรจะถูกเปลี่ยนกลับมาเป็นอาหารชั้นดีของสุกรและปุ๋ยชั้นเยี่ยม จากกระบวนการหมักของจุลินทรีย์

                การลี้ยงสุกรในคอกที่ไม่แออัด ปล่อยแบบธรรมชาติสัมผัสดิน แสงแดด อากาศบริสุทธิ์ มีหญ้าสด พืชผักเป็นอาหารธรรมชาติที่อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุธรรมชาติทำให้ลำใส้ สุกรมีสุขภาพที่ดี ย่อยและดูดซึมอาหารได้ดี สุกรแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันโรคโดยธรรมชาติ ทำให้ไม่ต้องใช้ยาเคมีในการป้องกันและรักษาโรคเหมือนการเลี้ยงสุกรในฟาร์ม การค้าทั่วๆไป ซึ่งตรงตามแนวคิดการส่งเสริมสุขภาพสัตว์ล่วงหน้าดีกว่าการรักษา positive animal health and welfare นอกจากนี้คุณภาพเนื้อสุกรจะมีสีชมพู มีปริมาณไขมันในสัดส่วนที่พอเหมาะ ชุ่มน้ำและมีกลิ่นหอมเป็นที่นิยมของผู้บริโภค


                เทคนิคการเลี้ยงหมูหลุม กรณีศึกษาเกษตรกรจังหวัดอุดรธานี

                (อ้างอิงจากปศุสัตว์อำเภอสร้างคอม สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี)

                                                                         โดยมีข้อมูลพื้นฐานจากกลุ่มเลี้ยงหมูหลุมของผู้ใหญ่สุวรรณ ศรีสุพัฒน์ บ้านศรีชมชื่น หมู่ 6 ตำบล บ้านหินโงม อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มแปลงสาธิตเกษตรกรรมธรรมชาติ สนับสนุนจากมูลนิธิศุภนิมิตรแห่งประเทศไทย โดยการเรียนรู้จากจังหวัดเชียงราย จากการดำเนินงานในรูปกลุ่มเกษตรกรในการเลี้ยงหมูหลุมพบว่า สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชนบทได้เป็นอย่างดี และเป็นการใช้ทรัพยากรอาหารสัตว์ในท้องถิ่น ลดการใช้อาหารสำเร็จรูปจากท้องตลาดได้เป็นอย่างดี ทำให้เกษตรกรพึ่งพาตนเอในการผลิตและการบริโภคผลผลิตจากชุมชน ดังนั้นในปี งบประมาณ 2548 สำนักงานปศุสัตว์อุดรธานี จึงได้ของบประมาณสนับสนุนการเลี้ยงหมูหลุมในหมู่บ้าน โดยใช้งบประมาณบูรณาการผู้ว่าราชการจังหวัด        

p10

                ขั้นตอนและวิธีการเลี้ยง

                1.การสร้างโรงเรือน เลือกพื้นที่น้ำไม่ท่วมขัง อากาศถ่ายเทสะดวก ปลูกสร้างด้วยวัสดุในท้องถิ่น โครงไม้ไผ่ หลังคาหญ้าคา ขนาด กว้าง x ยาว x สูง = 4 x5x1.8 เมตร เลี้ยงคอกละ 20 ตัว หลังคาควรมีแสงรอดผ่าน หรือมีพื้นที่รับแสงได้ 1/3 ของพื้นที่คอกตลอดทั้งวัน จะทำให้มีการฆ่าเชื้อด้วยแสงอาทิตย์ทุกวัน

                2.การเตรียมพื้นคอก

                2.1ขุดหลุมลึก 90 ซม.ความกว้างยาวขึ้นอยู่กับจำนวนหมูที่จะเลี้ยง โดยมีพื้นที่ต่อตัว 1- 1.5 เมตรต่อตัว

                2.2 ก่ออิฐให้รอบทั้ง 4 ด้าน และให้สูงกว่าปากหลุมประมาณ 30 เซนติเมตร ไม่ต้องเทพื้น

                2.3 วัสดุเตรียมพื้นคอก โดยจัดทำเป็น 3 ชั้นๆละ 30 ซม. โดยใช้วัตถุดิบดังนี้

                - แกลบดิบ 4,300 กิโลกรัม

                - มูลโคหรือกระบือ 320 กิโลกรัม

                - รำอ่อน 185 กิโลกรัม

                - น้ำหมักจุลินทรีย์จากพืชสีเขียว1 ลิตร ซึ่งจะได้แบคทีเรียกลุ่มที่ผลิตกรดแลคติค

                วิธีทำพื้นคอก

p1010028

                1.ใส่แกลบสูง 30 ซม.

                2.ใส่มูลโค-กระบือ 8 ถุงปุ๋ย และรำข้าว 8 ถุงปุ๋ย ให้ทั่ว

                3.ผสมน้ำหมักจุลินทรีย์ ขนาด 2 ช้อนโต๊ะละลายน้ำ 10 ลิตรรดให้ทั่วพอชุ่ม

                4.ชั้นต่อไปทำเหมือนเดิมจนครบ 3 ชั้น ทิ้งไว้ 7 วัน ปล่อยให้เกิดการหมักของจุลินทรีย์ จึงนำลูกหมูหย่านมมาเลี้ยง เมื่อเลี้ยงไปได้ระยะหนึ่งให้เติมวัสดุรองคอกด้วยเสริมเดิมให้เต็มเสมอ

                3. พันธุ์สุกร

v05

                ควรใช้สุกร 3 สายเลือดจากฟาร์มที่ไว้ใจได้ และคัดสายพันธุ์มาสำหรับการเลี้ยงแบบปล่อยได้ดี หย่านมแล้ว อายุประมาณ 1 เดือน น้ำหนักประมาณ 12-20 กิโลกรัม

                4. อาหารและวิธีการเลี้ยง

                4.1 ในระยะเดือนแรก ให้อาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ด สำหรับสุกรหย่านมมีโปรตีนไม่ต่ำกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับรำโรงสีชาวบ้าน ในอัตรา 1: 3 ให้กิน 3 เวลา เช้า กลางวัน และเย็น เป็นเวลา 15 วันแรก หลังจากนั้นลดอาหารสำเร็จรูปลงจนครบ 1 เดือน ไม่ต้องให้อาหารสำเร็จรูปอีกต่อไป โดยในกลางวันให้กินอาหารเสริมประเภทพืช ผัก และถ้ามีกากน้ำตาลให้หั่นพืชผักหมักกับกากาน้ำตาลทิ้งไว้ 1 วัน แล้วให้กินจะเป็นการดียิ่ง

                4.2 ในระยะเดือนที่ 2 จนถึงจำหน่าย งดให้อาหารสำเร็จรูป เกษตรกรนำกากปลาร้าต้มกับรำข้าว หรือใช้ รำปลายข้าว ในอัตราส่วน 1:1 และเศษพืชผักเป็นอาหารเสริม โดยมีระยะเวลาเลี้ยง 3-3 เดือนครึ่ง ได้น้ำหนักประมาณ 80-100 กก.

               

                ตารางคำแนะนำการให้อาหาร

                                   น้ำหนักหมู                ชนิดอาหาร                               ปริมาณ กก/ตัว/วัน อาหารเสริม

12-20 กก.               อาหารสำเร็จรูป           1.0-1.5                                   หญ้าสดหรือเศษผัก

20-35 กก.               รำ+ ปลายข้าว            1.7- 2.0                                  หญ้าสดหรือเศษผัก

35-60 กก.               รำ+ ปลายข้าว            2.5- 3.0                                  หญ้าสดหรือเศษผัก

60-100 กก.             รำ+ ปลายข้าว            3.5 -4.0                                  หญ้าสดหรือเศษผัก

 

                5. การดูแลอื่นๆ การ คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ด้วยการเลี้ยงปล่อยให้หมูได้มีโอกาสสัมผัสดิน สุกรได้แสดงออกตามพฤติกรรม ป้องกันแสงแดดมากเกินไป ลมโกรกพอดี สุมไฟไล่ยุงในฤดูฝน

                6. ต้นทุนการผลิต (เดือน พฤษภาคม 2548 )

                6.1 ค่าโรงเรือน รวมอุปกรณ์ การให้น้ำและอาหาร เงิน 3,000 บาท

                6.2 ค่าก่อกำแพงอิฐบล็อกภายในหลุมทั้ง 4 ด้าน เงิน 1,050 บาท

                6.3 ค่าพันธุ์หมู 20 ตัวๆละ 1.200 บาท เงิน 24,000 บาท

                6.4 ค่าจัดทำวัสดุรองพื้น เงิน 2,080 บาท ได้แก่ แกลบ 1 คันรถ เงิน 300 บาท มูลโค- กระบือ 24 กระสอบๆละ 10 บาท เงิน 240 บาท รำข้าว 576 กก.ๆละ 2.50 บาท เงิน 1,440 บาท สารจุลินทรีย์ 100 บาท

                6.5 ค่าอาหารหมู เงิน 6,575 บาท

                - อาหารสำเร็จรูป 150 กก. ๆละ 10 บาท เงิน 1,500 บาท

                - รำข้าว 1,750 กก.ๆละ 2.50 บาท เงิน 4,375 บาท

                - กากปลาร้า เงิน 100 บาท

                - ปลายข้าว 120 กก. ๆละ 5.00 บาท เงิน 600 บาท

                6.6 ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และหล่อลื่นในการจัดอาหารเสริม เงิน 2,000 บาท

                6.7 ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เงิน 400 บาท (ไม่ได้คิดค่าแรงงาน) รวมต้นทุน 39,105 บาท

                7. รายรับ

                7.1 จำหน่ายสุกร 20 ตัวๆละ 3,000 บาท เงิน 60,000 บาท

                7.2 ปุ๋ยชีวภาพที่ได้ 10 ตันๆละ 2,000 บาท เงิน 20,000 บาท
รวมรับ 80,000 บาท

                ผลลัพท์จากการเลี้ยงหมูหลุม

                การ เลี้ยงหมูหลุม เป็นการผลิตที่เหมาะสมกับการทรัพยากรและการบริโภค ในท้องถิ่นทำใ ห้เศรษฐกิจฐานล่างมีความเข้มแข็ง สนับสนุนนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่

                · ด้านเศรษฐกิจ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม พึ่งพาการผลิตการบริโภคในท้องถิ่นเกิดความมั่นคงทางอาหารแก่ชุมชน

                · ด้านสังคม เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ทำให้ครอบครัวมีงานทำหมุนเวียนตลอด ก่อเกิดรายได้ ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น

                · ด้านสิ่งแวดล้อม เป็น การผลิตผสมผสานปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ใช้ทรัพยากร ผืนดินให้เกิดประโยชน์ต่อการผลิต ใช้วงจรชีวภาพหมุนเวียนให้เกิดการผลิตหลายรอบ ไม่เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

                · ด้านสุขภาพ การเลี้ยงหมูที่ไม่เครียดทำให้มีสุขภาพดี และการเลี้ยงด้วยหญ้าจะทำให้เนื้อสัตว์มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว ชนิด โอไมก้า 3 ลด ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง และไขมันอุดตันในหลอดเลือดสูง และผลผลิตปลอดภัยปราศจากสารเคมีสังเคราะห์ มีผลทำให้สุขภาพของผู้บริโภคโดยตรง Food Quality ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงเช่นเดียวกับอาหารอินทรีย์


                ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

                1) ความท้าทายของกระแสโลก ทำให้ต้องปรับวิธีคิดการผลิตการเกษตร เพื่อสร้างอาหารเลี้ยงมนุษย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่
1.1) การเสื่อมของดินจากกิจกรรมของมนุษย์
1.2) น้ำขาดแคลนและแหล่งน้ำเกิดมลพิษ มีเชื้อโรค จากการเกษตรเคมี และอุตสาหกรรม
1.3) ภาวะโรคร้อน
1.4) ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง
1.5) แหล่ง พลังงานจากฟอสซิลไกล้หมด บทบาทการเลี้ยงสัตว์ในโลกต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง สัตว์เป็นตัวใช้ทรัพยากร มนุษย์มีความต้องการอาหารผลิตภัณฑ์จากสัตว์เพิ่มขึ้น หากมีการจัดการที่ดีปศุสัตว์จะเป็นสิ่งส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ความอุดมสมบรูณ์ของดิน ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

                2) ระบบการเลี้ยงสัตว์ผสมผสานการปลูกพืช จะมีบทบาทสำคัญในการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมและเป็นเกษตรกรรายย่อย การเลี้ยงสัตว์เป็นความจำเป็นต่อวิถีชีวิตของคนจน เนื่องจากมีข้อจำกัดคือมีพื้นที่ถือครองน้อย ทรัพยากรจำกัด
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องปรับแนวคิดนักวิชาการ นักพัฒนา นักส่งเสริมเพื่อรับกับกระแสโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง ( เรียบเรียงจาก Why the need to change the mind set หนังสือ Livestock and Wealth Creation) จำเป็นต้องปรับปรุงการจัดการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรรายย่อยให้มีประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น โดย

                2.1 ต้องมีการ” เขียนตำราการเลี้ยงสัตว์ใหม่” เรื่อง วิธีการปรับปรุงการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรรายย่อย ซึ่งปกติมีแต่ตำราที่เป็นการผลิตเชิงเดี่ยวจากการทำฟาร์มแบบตะวันตก ยังไม่มีตำราเกี่ยวกับการเกษตรองค์รวม ซึ่งหากเกษตรกรพัฒนาการเลี้ยงสัตว์จะเป็นการเพิ่มรายได้และแก้ปัญหาความยาก จน

                2.2 ให้คุณค่า” การยอมรับทางวิชาการ” ใน การศึกษาวิธีการที่จะปรับปรุงการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรรายย่อย ได้แก่ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติจริง ลองผิดลองถูกจนเห็นผลเชิงประจักษ์ ซึ่งบางอย่างวิทยาศาสตร์เชิงเดี่ยวไม่สามารถพิสูจน์ได้ มีความซับซ้อนของธรรมชาติที่มนุษย์เรียนรู้ไม่หมดต้องมีการศึกษาตลอดเวลาไม่ หยุดนิ่ง เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีและลดปัญหาความยากจนในชนบท

                2.3 ให้ความสำคัญ” กระบวนการมีส่วนร่วม” ใน การวิจัยและพัฒนา เช่นการให้เกษตรกรและผู้มีส่วน ได้ส่วนเสียกำหนดแผนชุมชนในการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ของชุมชน เช่น กรณีการเลี้ยงหมูหลุม การทำเกษตรอินทรีย์ องค์ความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านมีมากมายกระจัดกระจาย นักวิชาการจำเป็นต้องนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปสนับสนุนต่อยอดให้เกิดเป็น นวัตกรรม ซึ่งเป็นการปฏิรูปแนวคิดการทำงานของนักวิชากาในยุคใหม่ ”การจัดการความรู้” โดยกระบวนการวิจัย เพื่อท้องถิ่นซึ่งรวมทั้งการสร้างความรู้และการถ่ายทอดความรู้ การเผยแพร่ความรู้ เป็นต้น

                2.4 การปรับเปลี่ยนแนวคิด “การพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวม” ไม่ แยกตามกิจกรรมตามภารกิจของหน่วยงาน เนื่องจากการเลี้ยงสัตว์เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเกษตรผสมผสาน การปรับปรุงการจัดการเลี้ยงสัตว์จะมีผลกระทบต่อทั้งระบบ

                ดัง นั้นจากแนวโน้มกระแสโลกที่เกิดขึ้น เกษตรกรรายย่อยจะอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง และพัฒนาใช้ทรัพยากรในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ การผลิตแบบผสมผสานทำให้มีผลผลิตหลายอย่างออกสู่ตลาด ลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชและตลาดต่างประเทศ

                3. การ ส่งเสริมสนับสนุนควรทำครบวงจร ตั้งแต่ ความต้องการเนื้อสุกรของชุมชน ปัจจัยการผลิต ได้แก่ พันธุ์ อาหารสัตว์ สารธรรมชาติจากการหมักจุลินทรีย์ สมุนไพร ระบบการผลิต การแปรรูปโรงฆ่าขนาดที่พอเหมาะและเหมาะสมกับวัฒนธรรมการบริโภคในท้องถิ่น การจัดการตลาดควรเป็นการบริโภคในท้องถิ่น รวมทั้งกระบวนการกลุ่ม เพื่อเชื่อมโยงการสนับสนุนปัจจัยการผลิตในชุมชน เช่นการปลูกพืช ข้าวและโรงสีชุมชน ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จในการปฏิบัติ เป็นต้น

                ความรู้การเลี้ยงหมูหลุม มีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมากทุกขั้นตอน ดังนั้น กรมปศุสัตว์ควรเสริมสร้างศักยภาพของนักวิชาการและนักส่งเสริม ในด้านแนวทางการพัฒนาโดยใช้กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม ซึ่ง เป็นการสร้างความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการ ปฏิบัติจริง แทนการอบรมแบบเดิมซึ่งเกษตรไม่นำไปปฏิบัติ โดยกระบวนการวิจัยจะอยู่ในเนื้องานปกติของนักพัฒนานั่นเอง

 

เรียบเรียงโดย : นางจินตนา อินทรมงคล
ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตและขยายพันธุ์สัตว์    กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์