ปัจจุบันเกือบทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนมีความต้องการโคเนื้อและกระบือเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ขณะที่การผลิตโคเนื้อและกระบือของแต่ละประเทศยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ต้องอาศัยการนำเข้าเป็นหลัก ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพในการผลิตโคเนื้อและกระบือ แต่เนื่องจากปัญหาความผันผวนด้านราคาที่ไม่แน่นอน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำการเกษตรโดยใช้เครื่องจักรกลแทนการใช้แรงงานกระบือไถนา เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อและกระบือจึงเปลี่ยนอาชีพโดยนำพื้นที่จัดทำแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ไปปลูกพืชเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกันราคาผลผลิตแทน ทำให้ขาดพื้นที่เลี้ยงโคเนื้อ กระบือ ประกอบกับเกษตรกรขาดแรงจูงใจจึงเลิกเลี้ยงโค กระบือ และขายโค-กระบือทิ้ง ทำให้แม่พันธุ์โคเนื้อ กระบือถูกทำลายและลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ จากสถิติกรมปศุสัตว์เมื่อปี ๒๕๕๐ พบว่า โคเนื้อเพศเมียวัยเจริญพันธุ์ที่ให้ลูกได้ จำนวน ๓.๒๕ ล้านตัว เหลือเพียง ๑.๕๙ ล้านตัวในปี ๒๕๕๔ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ ๓๓,๒๐๐ ล้านบาท