เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

งานวิจัย / ผลงานวิชาการ กสส.

การเปรียบเทียบคุณภาพลูกชิ้นเนื้อวัวจากเนื้อแดงส่วนขาหน้ากับขาหลังของโคขุน

 

Comparison between The Quality of Beef Ball from Lean Meat of Forequarter and Hindquarter of Feedlot Cattle

โดย นายเทพฤทธิ์ ทับบุญมี , นางสาวประภัสสร ภักดี

บทคัดย่อ 

                        ศึกษา เปรียบเทียบคุณภาพลูกชิ้นเนื้อวัวจากเนื้อแดงส่วนขาหน้ากับขาหลังของโคขุน ลูกผสมพันธุ์กบินทร์บุรีหรือพันธุ์ซิมบรา อายุประมาณ 2 ปี วางแผนการทดลองแบบ Complete Randomized Design (CRD) มี 2 การทดลอง คือ ลูกชิ้นจากเนื้อโคขุนส่วนขาหน้าและลูกชิ้นจากเนื้อโคขุนส่วนขาหลัง โดยผลิตลูกชิ้นจากโคขุน จำนวน 3 ตัว และวิเคราะห์คุณภาพทางประสาทสัมผัส (Sensory Evaluation) พบว่าคุณภาพของลูกชิ้นทั้ง 2 การทดลอง ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ (p> 0.05) การยอมรับอยู่ในเกณฑ์ดี ลูกชิ้นจากส่วนขาหน้าของโคขุนมีลักษณะเหนียว นุ่ม ส่วนลูกชิ้นจากส่วนขาหลังของโคขุน มีลักษณะเหนียวแน่น ซึ่งสอดคล้องกับคุณค่าทางอาหารของลูกชิ้นมีปริมาณโปรตีนร้อยละ 14.31 และ 14.36 ในลูกชิ้นจากส่วนขาหน้าและขาหลังของโคขุนตามลำดับและมีปริมาณไขมันร้อยละ 2.25 และ 1.47 ตามลำดับ ต้นทุนการผลิตลูกชิ้นจากขาหน้าของโคขุนต่ำกว่าขาหลังและสามารถใช้เนื้อวัว จากขาหน้าทำลูกชิ้นได้

คำสำคัญ  :  ลูกชิ้นเนื้อวัว ส่วนขาหน้า ส่วนขาหลัง โคขุนพันธุ์ซิมบรา


เลขทะเบียนผลงาน   52 (2) – 0411 - 097
กลุ่มวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์

คู่มือการจัดทำ HACCP ของโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ขนาดย่อม

คู่มือการจัดทำ HACCP ของโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ขนาดย่อม
โดย นายสมพิศ  ชูแสงจันทร์  , นายเทพฤทธิ์  ทับบุญมี

บทนำ 

                การแปรรูปเนื้อสัตว์เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีและมีความปลอดภัยต่อ ผู้บริโภคนั้น ผู้ดำเนินการต้องมีโรงเรือนที่ได้มาตรฐานถูกสุขลักษณะตาม GMP (Good Manufacturing Practice) มีระบบ ที่ใช้ในการควบคุมคุณภาพและประกันความปลอดภัยทางอาหาร สร้างความมั่นใจและเป็นที่นิยมของผู้บริโภคสามารถจำหน่ายผลผลิตให้เกิดราย ได้อย่างยั่งยืนตลอดไป

                ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุมหรือ Hazard Analysis and Critical Control Point หรือที่เรียกกันว่า HACCP เป็น ระบบประกันความปลอดภัยของอาหารในการป้องกันปัญหาและแก้ไขปัญหาที่สาเหตุ เป็นระบบที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วยการพิจารณาสาเหตุและวิเคราะห์อันตรายที่จะเกิดขึ้น มีการวางมาตรการป้องกันและแก้ไขตลอดวงจรการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร ตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่งจนกระทั่งถึงผู้บริโภค เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่าอาหารที่ผลิตภายใต้การควบคุมโดยใช้ระบบ HACCP นี้ เป็นอาหารที่มีความปลอดภัยจากจุลินทรีย์ชนิดเป็นพิษ สารเคมีและสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ เป็นหลักประกันความปลอดภัยของอาหารให้แก่ผู้บริโภค เนื่องจากอาหารเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค หากมีสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ในการใช้ระบบ HACCP สิ่งสำคัญคือความเข้าใจในระบบของกระบวนการ ผลิต ซึ่งจะเกิดการติดต่อและทำงานร่วมกันระหว่างผู้ตรวจสอบกับผู้ผลิต ผู้ตรวจสอบจะสอบทวนแผน HACCP โดยดูว่าอันตรายวิกฤติ (Critical Hazard) ถูกกำหนดขึ้นอย่างถูกต้องและผู้ผลิตมีการควบคุมในส่วนนี้อย่างเคร่งครัด ผู้ตรวจสอบจะพิจารณาแผน HACCP ให้สอดคล้องในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านสุขอนามัย เศรษฐศาสตร์ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ เป็นต้น แล้วทำการแก้ไขแผน HACCP ให้มีความเหมาะสมกับการนำมาใช้ปฎิบัติจริงและจะต้องมีการบันทึกการแก้ไขทุกครั้ง

สรุป

              ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม เป็นระบบที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ในการควบคุมปัญหาด้านความเสี่ยง เพื่อให้ผลิตอาหารที่มีความปลอดภัย การจัดทำระบบ HACCP ในองค์กรจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เริ่มต้นต้องได้รับความยินยอมจากผู้บริหารและกำหนดเป็นนโยบาย ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง

                HACCP มีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกขั้นตอน การใช้ HACCP ให้ได้ผลนั้นสิ่งสำคัญ คือ การให้ความรู้และการศึกษาในเรื่องของหลักการ การประยุกต์ใช้และการนำไปใช้ให้ได้ผล รวมทั้งการฝึกอบรมอย่างเพียงพอแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งระบบ HACCP การอบรมนี้ไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะผู้จัดตั้งระบบ HACCP เท่านั้น ควรให้ผู้ปฎิบัติงานทุกระดับเข้าใจถึงความสำคัญของระบบ HACCP ที่จัดตั้งขึ้น นอกจากนี้ควรให้ความรู้แก่ผู้บริโภคให้รู้จักวิธีการบริโภคที่ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคโปรดระลึกอยู่เสมอว่า ระบบ HACCP เป็นระบบที่จัดตั้งขึ้นเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ปัจจัยที่จะนำมาพิจารณาควรเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ บริโภคเท่านั้น ไม่ควรนำปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับทางด้านคุณภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะจะทำให้ปัจจัยด้านความปลอดภัยไม่เด่นชัด


เลขทะเบียนผลงาน       52 (2) – 0411 – 092  
สถานที่ดำเนินการ        กลุ่มวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์  สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ 
ระยะเวลาดำเนินการ      ตุลาคม  2550 – พฤศจิกายน  2551 
การเผยแพร่                 เอกสารเผยแพร่  กลุ่มวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์  สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์
                                   กรมปศุสัตว์  พฤศจิกายน  2551

การเปรียบเทียบคุณภาพลูกชิ้นเนื้อวัวจากเนื้อแดงของโคขุนกับโคพื้นเมือง

การเปรียบเทียบคุณภาพลูกชิ้นเนื้อวัวจากเนื้อแดงของโคขุนกับโคพื้นเมือง
โดย สมพิศ  ชูแสงจันทร์  , เทพฤทธิ์  ทับบุญมี

บทคัดย่อ

           ศึกษา เปรียบเทียบคุณภาพลูกชิ้นเนื้อวัวจากเนื้อแดงส่วนขาหลังของโคขุนพันธุ์ กบินทร์บุรี หรือพันธุ์ซิมบราอายุ 2 ปี กับโคพื้นเมืองอายุ 2 ปี และอายุ 10 ปี วางแผนการทดลองแบบ Complete Randomized Design (CRD) มี 3 การทดลอง โดยทำการทดลองผลิตลูกชิ้นจากเนื้อแดงส่วนขาหลังของโคขุนพันธุ์กบินทร์บุรี หรือพันธุ์ซิมบรา อายุ2 ปี โคพื้นเมืองอายุ 2 ปี และอายุ 10 ปี กำหนดให้ ลูกชิ้นจากโคพื้นเมืองอายุ 10 ปี เป็นตัวอย่างควบคุม (Control) ดำเนินการทดลอง 3 ซ้ำ และทดสอบคุณภาพทางประสาทสัมผัส พบว่า คุณภาพด้าน สี ลักษณะเนื้อสัมผัส และการยอมรับของลูกชิ้นจากโคขุนพันธุ์ - กบินทร์บุรี  อายุ  2  ปี  มีความแตกต่างทางสถิติ  (p<0.05)  เปรียบเทียบกับโคพื้นเมืองอายุ  2  ปี  และ อายุ 10 ปี ตามลำดับ  ส่วนกลิ่น รสชาติของทั้ง 3 การทดลอง ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ (p>0.05) แต่ ผู้ชิมยอมรับว่า กลิ่น รสชาติ ของลูกชิ้นจากโคพื้นเมืองอายุ 10 ปี แรงกว่าโคพื้นเมืองอายุ 2 ปี และโคขุนพันธุ์กบินทร์บุรีอายุ 2 ปี จากการวัดค่าความเหนียวของลูกชิ้นจากโคพื้นเมืองอายุ 10 ปี มีลักษณะเนื้อเหนียว แน่น และกรอบมากกว่าลูกชิ้นจากโคพื้นเมืองอายุ 2 ปี และโคขุนพันธุ์กบินทร์บุรี ตามลำดับ (p<0.05) ซึ่งสอดคล้อง กับผลการวิเคราะห์คุณค่าทางอาหาร พบว่า ปริมาณโปรตีนของลูกชิ้นจากโคขุนพันธุ์กบินทร์บุรีอายุ 2 ปี โคพื้นเมืองอายุ 2 ปี และอายุ 10 ปี มีค่าใกล้เคียงกันมาก (p>0.05)  แต่ปริมาณไขมันของลูกชิ้นจากโคขุนพันธุ์กบินทร์บุรี มีสูงกว่าโคพื้นเมือง (p<0.05)  ทำ ให้คุณภาพของลูกชิ้นจากโคขุนพันธุ์กบินทร์บุรี มีลักษณะ เหนียว นุ่ม ต้นทุนการผลิตลูกชิ้นจากโคพื้นเมืองต่ำกว่าโคขุนพันธุ์กบินทร์บุรี       

 คำสำคัญ  :  ลูกชิ้นเนื้อวัว   โคขุน   โคพื้นเมือง


เลขทะเบียนผลงาน  52 (2) – 0411 - 091
กลุ่มวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ สำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมปศุสัตว์

คุณภาพซากและปริมาณเนื้อที่มีมูลค่าของโคขุนลูกผสมพื้นเมือง

คุณภาพซากและปริมาณเนื้อที่มีมูลค่าของโคขุนลูกผสมพื้นเมือง
Carcass Quality and Quantity of Value Lean Cross Breed Thai Native Cattle
โดย นางสาวนารถตยา ชมนารถ , นายสมพิศ  ชูแสงจันทร์

บทคัดย่อ 

            ศึกษาคุณภาพซากและปริมาณเนื้อที่มีมูลค่าของโคขุนลูกผสมพื้นเมือง วางแผนการทดลองแบบ Complete Randomized Design มี 2 ปัจจัย คือ ระยะเวลาการขุน 12 เดือน จำนวน 7 ตัว กับ ระยะเวลาการขุน 18 เดือน จำนวน 7 ตัว รวมเป็น 14 ตัว มีอายุก่อนขุนโดยเฉลี่ย 1 ปี ได้รับอาหารมีสัดส่วนของอาหารหยาบ : อาหารข้น คือ 50 : 50 เข้า กระบวนการฆ่าและชำแหละตัดแต่ง พบว่า เปอร์เซ็นต์ซากโคขุน เปอร์เซ็นต์ผลพลอยได้ เปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักที่เกิดจากกระบวนการฆ่า พื้นที่หน้าตัดสันนอก เปอร์เซ็นต์เนื้อแดงส่วนขาหน้า เปอร์เซ็นต์เนื้อแดงส่วนขาหลัง เปอร์เซ็นต์ไขมัน และเปอร์เซ็นต์กระดูก ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ (p>0.05) ทั้งในระยะเวลาการขุน 12 เดือน และ 18 เดือน แต่มีเปอร์เซ็นต์เนื้อแดงส่วนขาหน้ามากกว่าส่วนขาหลัง Rib หรือสันนอก เป็นชิ้นเนื้อที่มีความนุ่มมากที่สุดในทั้ง 2 ระยะเวลาการขุน Rump กับ Topside ของโคขุน 18 เดือน มีความเหนียวมากกว่าโคขุน 12 เดือน (p<0.05) ผลการคำนวณมูลค่าเฉลี่ยของซากโคขุน และมูลค่าชิ้นเนื้อคุณภาพดี พบว่า โคขุน 12 เดือน มีมูลค่าประมาณ 30,855.06 และ 12,122.10 บาท ตามลำดับ ส่วนโคขุน 18 เดือน มีมูลค่า 32,169.49 และ 11,950.20 บาท

คำสำคัญ :   โคขุนลูกผสมพื้นเมือง   คุณภาพซาก   ชิ้นเนื้อคุณภาพดี   มูลค่าชิ้นเนื้อ


เลขทะเบียนผลงาน   52 (2) – 0211 – 095
1   กลุ่มวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์  สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์

การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความยั่งยืนของชุมชนเลี้ยงสัตว์ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความยั่งยืนของชุมชนเลี้ยงสัตว์ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  
Study on Sustainable Factor in Livestock Raiser Commune under Sufficiency Economy Philosophy 
โดย  นางวรางคณา  โตรส  นางวิภาวรรณ  ปาณะพล

บทคัดย่อ

                  การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความยั่งยืนของชุมชนเลี้ยงสัตว์ตามปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง มีวัตถุประสงค์รวมใน ๓ ประการ ดังนี้ ๑. เพื่อศึกษาข้อมูลทั่วไปของชุมชนเลี้ยงสัตว์ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ๒.  เพื่อศึกษาความยั่งยืนของชุมชนเลี้ยงสัตว์ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ ๓. เพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้นำชุมชนที่มีต่อปัจจัยที่มีผลต่อความยั่งยืน โดยศึกษาจากชุมชนเลี้ยงสัตว์ที่ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน ๓๔ ชุมชน ทั่วประเทศ ผลการศึกษามีดังนี้

                  ชุมชน เลี้ยงสัตว์ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนใหญ่เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ และมีการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในช่วงเวลาที่ต่างกัน มีการจัดทำแผนงานของชุมชนฯ คิดเป็นร้อยละ ๔๗.๑ ของชุมชนเลี้ยงสัตว์ฯ  จำนวนชุมชนที่เลี้ยงสัตว์ ร่วมกับปลูกพืช เป็น ๓๒ แห่ง จำนวนชุมชนที่เลี้ยงสัตว์ และปลูกพืช ร่วมกับทำประมง เป็น ๒๑ แห่ง จำนวนชุมชนที่เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชและทำวิสาหกิจชุมชน เป็น ๑๕ แห่ง จำนวนชุมชนที่เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช ทำประมง และ วิสาหกิจชุมชน เป็น ๑๑ แห่ง  

                 ผลการประเมินความยั่งยืนในการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยพิจารณาจากข้อมูลทั่วไปของชุมชน(๑๐ คะแนน) ข้อมูลผู้นำชุมชน(๕ คะแนน) ข้อมูลระดับการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง(๗๕ คะแนน) การประเมินตนเอง(๑๐ คะแนน) โดยชุมชนที่ได้คะแนนมากกว่า ๘๐ คะแนน ซึ่งถือว่ามีระดับความยั่งยืนสูง มีจำนวน ๘ ชุมชน และได้คะแนนน้อยกว่า ๘๐ คะแนนมีจำนวน ๒๖ ชุมชน

                  ในด้านปัจจัยที่มีผลต่อความยั่งยืน จากการศึกษาในชุมชนพบว่า มีด้านหลักรวม ๔ ด้านคือ  ๑. ปัจจัยทุนทางสังคม  ทั้งที่เป็นรูปธรรมและไม่เป็นรูปธรรม โดยปัจจัยทุนที่เป็นรูปธรรมคือ สมาชิกในชุมชนเลี้ยงสัตว์และทรัพยากรธรรมชาติที่มีในพื้นที่ รวมทั้งทุนที่มนุษย์สร้างขึ้น ปัจจัยทุนทางสังคมที่เป็นนามธรรม ได้แก่ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนในชุมชนเลี้ยงสัตว์ ศาสนา ๒. ปัจจัยการรวมกลุ่มและชุมชนเข้มแข็ง โดยผู้นำชุมชนเป็นผู้กระตุ้นให้สมาชิกในชุมชนเกิดความสนใจ ต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเรื่องอาชีพการเลี้ยงสัตว์ และ ปัญหาด้านอื่น ๆ ของชุมชน๓. ปัจจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชุมชน ได้แก่ ป่าชุมชน ดิน แหล่งน้ำ และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ซึ่งทำให้ชุมชนแห่งนั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีระบบนิเวศน์ที่ดี โดยชุมชนต้องมีกิจกรรมในการสร้างจิตสำนึกของสมาชิกเพื่อให้ใช้รักษาทรัพยากร ที่มีอยู่ อย่างคุ้มค่า และรักษาสภาพแวดล้อม ๔. ปัจจัยการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก ซึ่งเป็นการสนับสนุนในรูปองค์ความรู้ หรือทุนจากภายนอกเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ชุมชน เช่น แหล่งน้ำธรรมชาติ  ระบบชลประทาน เป็นต้น 

คำสำคัญ : ชุมชนเลี้ยงสัตว์, ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, ความยั่งยืน


สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ราชเทวี กรุงเทพฯ

download เรื่องเต็ม

การพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ในระบบเกษตรยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

คำนำ                   

                การส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ใน อดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่ประสบผล สำเร็จมากนัก ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากนักส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่มองภาพของระบบการ เลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรในรูปของการทำเกษตรกรรมแบบเชิงเดี่ยว การพัฒนามุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และระดมทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อเร่งรัดการผลิตโดยมุ่งหวังเพียงเพื่อสร้างราย ได้จากการค้าและการส่งออกเป็นเป้าหมายหลัก จนมองข้ามผลกระทบที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสภาพสังคม และความมนุษย์ของเกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรประสบความล้มเหลวในการทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ โดยพบว่าแม้จะสามารถเพิ่มผลผลิตมากขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว  มีสินค้าการเกษตรส่งออกเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมากมาย แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน มีหนี้สิน ครอบครัวและชุมชนยังมีปัญหาความแตกแยก ขาดความสุข ในขณะที่สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ดิน และน้ำ ถูกทำลาย สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นว่านักพัฒนาและส่งเสริมการเกษตรต้องทบทวนแนว ทางในการทำงานเสียใหม่  มุมมองการผลิตปศุสัตว์แบบเชิงเดี่ยวอาจไม่ใช่คำตอบของเกษตรกรรายย่อย  การผลิตปศุสัตว์ที่ถูกต้องควรมองในองค์รวมที่ต้องมีระบบการผลิตที่บูรณาการ เชื่อมโยงไปกับระบบการผลิตพืชและประมง ในลักษณะที่เกื้อกูลกัน  และพัฒนาสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมา ประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างชุมชนเกษตรกรให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ดำเนินการผลิตด้วยเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยสอดคล้องกับศักยภาพและทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนอย่างเหมาะสม ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และที่สำคัญต้องนำมา ซึ่งความสุขของครอบครัว และชุมชนเป็นเป้าหมายสูงสุด กระบวนการทำงานของนักส่งเสริมปศุสัตว์ต้องปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้นำ เป็นผู้ให้  เป็นนักพัฒนา  และนักสังคมสงเคราะห์ ให้กลับมาเป็นผู้อำนวยการ (Facilitator) ผู้ประสาน (Coordinator) และผู้สนับสนุน (Promoter) โดยเน้นกระบวนการทำงานเพื่อสร้างบทบาทการมีส่วนร่วมให้กับเกษตรกร ตั้งแต่ร่วมคิด  ร่วมวิเคราะห์ปัญหา ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ และร่วมรับผลประโยชน์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในอนาคต เอกสารฉบับนี้ได้รวบรวมแนวทาง และเทคนิคในการทำงานส่งเสริมพัฒนาการเกษตรและเลี้ยงสัตว์แบบยั่งยืนตามแนว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยนำเอากระบวนการมีส่วนร่วมมาใช้ในการพัฒนา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในงานส่งเสริมการปศุสัตว์ได้นำไปพิจารณา ปรับใช้ในการส่งเสริมพัฒนาอาชีพการเลี้ยงสัตว์กับเกษตรกร อันจะทำให้งานส่งเสริมเป็นไปอย่างเหมาะสม และได้รับการยอมรับจากเกษตรกรอย่างแท้จริง

นายปัญญา  ธรรมศาล
กลุ่มวิจัยและพัฒนาปศุสัตว์เชิงบูรณาการ
สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์
กรมปศุสัตว์

ดาวน์โหลดเรื่องเต็ม

 

ศึกษาการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ ในโรงเรียนโครงการตามพระราชดำริ

ศึกษาการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ ในโรงเรียนโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 

เรืองสุรีย์ วงษ์ทองสาลี 2      กาญจนา ธรรมรัตน์ 2

 บทคัดย่อ

            วัตถุประสงค์ของการศึกษา เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนและข้อมูลส่วนบุคคลของครูผู้รับผิดชอบ กิจกรรมไก่ไข่  ศึกษาสภาพการดำเนินงานและประสิทธิภาพการดำเนินงาน ความคิดเห็นของครู ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยพื้นฐานของโรงเรียน ปัจจัยส่วนบุคคล ประสิทธิภาพการผลิต และประสิทธิภาพด้านการเงิน กับผลผลิตโปรตีนจากสัตว์และกองทุนเลี้ยงสัตว์ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมไก่ไข่ในโรงเรียนโครงการ ตามพระราชดำริจำนวน 107 โรงเรียน 107 คน พื้นที่ 34 จังหวัด ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2551 วิเคราะห์ข้อมูลโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป (SPSS/FW)

               ข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนพบว่า เป็นโรงเรียนสังกัด ตชด.ร้อยละ 78.5 โรงเรียนสังกัด สพฐ.ร้อยละ 21.5 ระดับชั้นที่เปิดสอน ชั้นอนุบาล-ป.6 ร้อยละ 91.6 จำนวนนักเรียนเฉลี่ย 177.3 คน จำนวนครูเฉลี่ย 10.1 คน พื้นที่เฉลี่ย 20.7 ไร่ ข้อมูลส่วนบุคคลของครูพบว่า ร้อยละ 90.7 รับผิดชอบโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ร้อยละ 29.9 ไม่เคยได้รับการฝึกอบรมเนื่องจากมีการโยกย้ายและเปลี่ยนหน้าที่   

                สภาพการดำเนินกิจกรรมไก่ไข่ ร้อยละ 48.6 จัดระบบป้องกันโรคสัตว์ปีกดี ร้อยละ 47.7 ระบบการบันทึกข้อมูลดี มีกองทุนเลี้ยงสัตว์เฉลี่ย 441.6 บาท/นักเรียน 1 คน ประสิทธิภาพการเลี้ยงไก่ไข่ที่ควรปรับปรุง คือ การให้อาหารเฉลี่ย/ตัว/วัน จำนวนไข่เฉลี่ย/ตัว อัตราการไข่ตลอดรุ่นเฉลี่ย ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อัตราการตายสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ประสิทธิภาพด้านการเงินที่ควรปรับปรุง คือ ต้นทุนการผลิต และราคาขายไข่เฉลี่ย ผลของการดำเนินโครงการพบว่า ปริมาณโปรตีนจากสัตว์ที่ผลิตได้เฉลี่ย 65.9 กรัม/คน/วัน ปริมาณที่จัดให้นักเรียนบริโภคเฉลี่ย 79.9 กรัม/คน/วัน อัตราน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ของเด็กนักเรียนเฉลี่ย 2.7% สำเร็จตามเป้าหมายของโครงการ

                ความคิดเห็นของครูต่อการดำเนินกิจกรรมภาพรวม พบว่ามีความเหมาะสมปานกลาง โดยสภาพการดำเนินงานกิจกรรมไก่ไข่ของโรงเรียน การสนับสนุนของผู้บังคับบัญชา การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองมีความเหมาะสมปานกลาง การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ การทำกิจกรรมของนักเรียน และความรู้สึกของครูในการทำกิจกรรม มีความเหมาะสมมาก แต่การมีส่วนร่วมของชุมชน มีความเหมาะสมน้อย

                  ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จของโครงการ พบว่า ปัจจัยพื้นฐานของโรงเรียน คือ จำนวนนักเรียนทั้งโรงเรียน พื้นที่ของโรงเรียน และระดับชั้นที่เปิดสอน ประสิทธิภาพการผลิต คือ จำนวนไข่เฉลี่ย/ตัว และอัตราการไข่ตลอดรุ่น มีผลต่อทั้งผลผลิตโปรตีนจากสัตว์และกองทุนเลี้ยงสัตว์ สำหรับปัจจัยส่วนบุคคลของครู และประสิทธิภาพด้านการเงิน ไม่มีความสัมพันธ์กับผลสำเร็จของโครงการ

คำสำคัญ :   โครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ในโรงเรียนโครงการตามพระราชดำริ   ผลสำเร็จของโครงการ                 
                 โปรตีนจากเนื้อสัตว์  กองทุนเลี้ยงสัตว์


1   ทะเบียนผลงานวิชาการเลขที่ 52(2)-0211-039
2   สำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมปศุสัตว์ กรุงเทพฯ

ปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจของเกษตรกรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อการดำเนินงานโครงการเกษตรเชิงพาณิชย์

ปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจของเกษตรกรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อการดำเนินงาน โครงการเกษตรเชิงพาณิชย์
เฉพาะกิจกรรมการเลี้ยงแพะเนื้อ 

ปัญญา  ธรรมศาล2/     ประยูร  ครองยุติ 2/ 

บทคัดย่อ 

                  การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์  เพื่อศึกษาสภาพพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาที่เกษตรกรพบ  ความพึงพอใจและปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจของเกษตรกรต่อ โครงการเกษตรเชิงพาณิชย์ เฉพาะกิจกรรมเลี้ยงแพะเนื้อ โดยมีกลุ่มตัวอย่างได้แก่ เกษตรกรในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดยะลา  ปัตตานี  นราธิวาส  และสงขลา จำนวน 352 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์  วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS ด้วยค่าทางสถิติ ประกอบด้วย ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  และทดสอบสมมติฐานด้วยค่าไคสแควร์

                   ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรที่ร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นเพศชาย  มีอายุเฉลี่ย 40 ปี นับถือศาสนาอิสลาม  จบการศึกษาสูงสุดระดับประถมศึกษา  มีอาชีพหลักในการทำสวนยางพารา สวนผลไม้และปาล์มน้ำมัน มีประสบการณ์การเลี้ยงแพะเฉลี่ย 2.5 ปี  สาเหตุในการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเพราะต้องการรายได้เสริม  ก่อนเข้าร่วมโครงการมีรายได้เฉลี่ย  6,594 บาทต่อเดือน มีขนาดฟาร์มเฉลี่ย 27 ตัว      ในรอบปีที่ผ่านมาเกษตรกรมีการนำแพะมาใช้บริโภคและประกอบพิธีกรรมทาง ศาสนาเฉลี่ย 2 ตัว มีการจำหน่ายแพะไปแล้วเฉลี่ย 2 ตัวต่อราย มีรายได้จากการจำหน่ายแพะโดยเฉลี่ยรายละ 6,483 บาท มีรายได้จากการจำหน่ายมูลแพะโดยเฉลี่ยรายละ 800 บาท  มีรายได้รวมเฉลี่ย รายละ 17,271 บาท และมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงแพะเฉลี่ยรายละ 2,560 บาท   เกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง โดยประเด็นที่มีความพึงพอใจสูงสุดได้แก่ การให้บริการของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการเลี้ยงแพะ ส่วนประเด็นที่มีความพึงพอใจน้อยที่สุด ได้แก่ ความพึงพอใจต่อการระดมหุ้นของกลุ่ม  ส่วนปัญหาที่เกษตรกรส่วนใหญ่พบในการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการ ได้แก่ ปัญหาที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพแพะ

                  ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า รายได้รวมที่เกษตรกรได้จากการเลี้ยงแพะมีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจในภาพรวมต่อดำเนินงานโครงการในระดับมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ เมื่อแยกความ พึงพอใจเป็นรายประเด็น พบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง ได้แก่  สาเหตุในการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ขนาดฟาร์ม รายได้รวมและค่าใช้จ่ายในรอบปีที่ผ่านมากับความพึงพอใจต่อการได้รับความรู้ จากการฝึกอบรบ ขนาดฟาร์มและค่าใช้จ่ายในรอบปีที่ผ่านมากับความพึงพอใจต่อการได้รับสนับสนุน ปัจจัยการผลิต สาเหตุในการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการกับความพึงพอใจต่อการให้บริการของเจ้า หน้าที่กรมปศุสัตว์ และรายได้รวมจากการเลี้ยงแพะในรอบปีที่ผ่านมากับความพึงพอใจต่อการดำเนินงาน ของกลุ่มผู้เลี้ยงแพะ 

 

คำสำคัญ  :    ความพึงพอใจ   เกษตรกร  โครงการเกษตรเชิงพาณิชย์


1/       ทะเบียนผลงานวิชาการเลขที่  
2/       สำนักงานพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมปศุสัตว์

การศึกษาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตนมและผลิตภัณฑ์ภายหลังการเปิดตลาดตามข้อตกลงองค์การการค้าโลก

การศึกษาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตนมและผลิตภัณฑ์
ภายหลังการเปิดตลาดตามข้อตกลงองค์การการค้าโลก

The Study on the Change in Production Structure of Dairy and Dairy Products
After Thailand entered Market Trade Liberalization bound to the WTO Agreements

นางสาวยุภา   ชูดำ      นางวรางคณา  โตรส

บทคัดย่อ

                การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตนมและผลิตภัณฑ์นมของไทย ภายหลังการเปิดตลาดตามข้อตกลงองค์การการค้าโลก  เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ถึง 30 กันยายน 2550  โดยเก็บข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนมทั่วประเทศ ตั้งแต่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม จำนวน 310 ราย  ศูนย์รวมนม จำนวน 117 ศูนย์ และโรงงานแปรรูป จำนวน 42 โรง  เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสัมภาษณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปสำหรับการวิจัยทาง สังคมศาสตร์ หรือ SPSS for Windows การอภิปรายผลการศึกษาใช้ค่าสถิติ ความถี่  ค่าเฉลี่ย   ค่าร้อยละ  ค่าต่ำสุด  ค่าสูงสุด และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 

                 จากการศึกษาพบว่า จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเพิ่มขึ้นจาก 17,190 ฟาร์ม ในปี 2537 เป็น 20,907 ฟาร์ม ในปี 2549  หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.62 จำนวนโคนมเฉลี่ยต่อฟาร์มมีขนาดเพิ่มขึ้น คือ จาก 15.09 ตัวต่อฟาร์ม ในปี 2537 เป็น 34.41 ตัวต่อฟาร์มในปี 2549  หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 128.03  ในขณะที่จำนวนแม่โคนมเฉลี่ยต่อฟาร์มก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน คือจากเดิม 8.41 ตัวต่อฟาร์ม ในปี 2537 เพิ่มขึ้นเป็น 18.66 ตัวต่อฟาร์ม ในปี 2549  หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 121.88 สำหรับอัตราการให้นมเฉลี่ยต่อตัวพบว่า เพิ่มขึ้นจาก  6.73 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน ในปี 2537 เป็น 10.65 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน ในปี 2549 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.25 และเพื่อทำให้การจัดการฟาร์มและการผลิตน้ำนมเป็นระบบที่ควบคุมคุณภาพได้  ในปี 2542 กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ได้ออกประกาศเรื่อง มาตรฐานฟาร์มโคนมและการผลิตน้ำนมดิบของประเทศไทย  โดยมีการวางแนวทางการปฏิบัติและการควบคุมดูแลภายในฟาร์ม องค์ประกอบฟาร์ม  การจัดการฟาร์ม การจัดการด้านสุขภาพสัตว์ การจัดการสิ่งแวดล้อม  การผลิต การเก็บรักษาและการขนส่งน้ำนมดิบ ตั้งแต่ปี 2543-2549 มีฟาร์มโคนมที่ผ่านมาตรฐานแล้ว จำนวน  3,619 ฟาร์ม  คิดเป็นร้อยละ 17.31 ของฟาร์มโคนมทั้งหมด 

                จำนวนศูนย์รวมนมเพิ่มขึ้นจาก 52 แห่ง ในปี 2537  เป็น  173 แห่ง ในปี 2549 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ  232.69 โดยแยกเป็นศูนย์รวมนมของสหกรณ์โคนม จำนวน 113 สหกรณ์ และศูนย์รวมนมเอกชน จำนวน 60 ศูนย์  หลังจากการเปิดตลาดเสรีตามพันธกรณีขององค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2538 ทำให้

              ศูนย์รวมนมมีการปรับตัว ปรับระบบการผลิตและควบคุมคุณภาพให้เข้มงวดยิ่งขึ้น  ในปี 2547 ได้มีการจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต(GMP) ของศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และกรมปศุสัตว์ได้ทำการประเมิน GMP ของ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบในภาพรวมพบว่ามีคะแนนประเมินเฉลี่ยร้อยละ 50.61  ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ประเมินเบื้องต้นที่กำหนดว่าศูนย์รวมนมต้องมีระดับคะแนน ประเมินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 การประเมินมาตรฐานศูนย์รวมนมเป็น มาตรการหนึ่งที่ประกันคุณภาพน้ำนมดิบจากเกษตรกร นอกจากนี้ ศูนย์รวมและผู้ประกอบการแปรรูปได้จัดทำการบันทึกข้อตกลงการรับซื้อน้ำนมดิบ ล่วงหน้า (MOU) ระยะเวลาการทำข้อตกลงปีต่อปี  มีการระบุปริมาณรับซื้อต่อวันเป็นค่าเฉลี่ยตลอดทั้งปีและระบุเงื่อนไขสิทธิ์ ประโยชน์ที่โรงงานแปรรูปจะได้รับเป็นสัดส่วนจากปริมาณการรับซื้อน้ำนมดิบ สำหรับการนำเข้านมผงขาดมันเนยและการจำหน่ายนม 

               ผู้ประกอบการแปรรูปรายใหญ่เพิ่มขึ้นจาก 7 ราย ในปี 2537 เป็น 11 ราย ในปี 2549 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.43  เช่นเดียวกันกับที่สหกรณ์โคนมที่มีโรงงานแปรรูปเพิ่มขึ้นจาก 12 รายในปี 2537 เป็น 14 รายในปี 2549 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.67  ในขณะที่สถาบันการศึกษามีโรงงานแปรรูปลดลงจาก 53 แห่ง ในปี 2537 เหลือเพียง 18 แห่ง ในปี 2549 หรือลดลงร้อยละ 66.04

               ปริมาณการผลิตนมพร้อมดื่มและปริมาณการนำเข้านมผงของ โรงงานแปรรูปเพิ่มขึ้นกล่าวคือ  ปริมาณการใช้น้ำนมดิบของโรงงานมีจำนวน  275,677 ตันในปี 2536 และเพิ่มขึ้นเป็น 308,058 ตัน ในปี 2537  หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ  11.75  โดยในช่วงปี 2536-2537 ปริมาณการใช้น้ำนมดิบของโรงงานแปรรูปมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.55 ต่อปี โดยปริมาณการใช้น้ำนมดิบเฉลี่ยปีละ 291,863 ตัน ต่อมาหลังจากที่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกWTO ในปี 2538  ปริมาณการใช้น้ำนมดิบของโรงงานแปรรูปมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.67  ต่อปี โดยมีปริมาณการใช้เฉลี่ยปีละ 563,207 ตัน ซึ่งสูงกว่าปริมาณการใช้น้ำนมดิบเฉลี่ยก่อนที่ไทยจะเข้าเป็นสมาชิก ถึงร้อยละ 92.97  

                สำหรับปริมาณการผลิตนมพร้อมดื่ม พบว่า ปริมาณการผลิตนมพร้อมดื่มในช่วงก่อนที่จะเข้าเป็นสมาชิก WTO (ในช่วงปี 2530-2537) มีปริมาณการผลิตเฉลี่ยปีละ 243,830 ตัน และมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 14.81 ต่อปี  และหลังจากที่เข้าเป็นสมาชิก WTO (ในช่วงปี 2538-2549) ปริมาณการผลิตนมพร้อมดื่มเฉลี่ยปีละ  647,764.67 ตัน ซึ่งสูงกว่าปริมาณการผลิตเฉลี่ยก่อนที่ไทยจะเข้าเป็นสมาชิก ถึงร้อยละ 165.66 โดยมีอัตราการขยายตัวของการผลิตนมพร้อมดื่มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.03 ต่อปี

                ส่วนปริมาณการนำเข้านมผงขาดมันเนย พบว่า อัตราการขยายตัวของการนำเข้านมผงขาดมันเนยในช่วง ปี 2538-2549 มีอัตราการขยายตัวลดลงเฉลี่ยปีละ 1.49  ซึ่งแตกต่างจากในช่วง 2530-2537 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ไทยเข้าเป็นสมาชิก WTO  ที่มีอัตราการขยายตัวของการนำเข้านมผงขาดมันเนยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7.73 โดยการนำเข้านมผงขาดมันเนยในช่วงปี 2530-2537 มีปริมาณการนำเข้าเฉลี่ยปีละ 50,393.13 ตัน ซึ่งต่ำกว่าในช่วงหลังการเข้าเป็นสมาชิก WTO (ในช่วง 2538-2549 ) ที่มีปริมาณการนำเข้าเฉลี่ยปีละ  66,138.00 ตัน

คำสำคัญ : โครงสร้างการผลิตนม, โครงสร้างผลิตภัณฑ์นม


สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์

ความคิดเห็นของข้าราชการกรมปศุสัตว์ส่วนกลางที่มีต่อจดหมายข่าวปศุสัตว์

ความคิดเห็นของข้าราชการกรมปศุสัตว์ส่วนกลางที่มีต่อจดหมายข่าวปศุสัตว์

น้องนุช  สาสะกุล*

บทคัดย่อ

                งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลทั่วไปของข้าราชการกรมปศุสัตว์ส่วนกลาง ที่มีต่อจดหมายข่าวปศุสัตว์ ศึกษาความคิดเห็นของข้าราชการกรมปศุสัตว์ส่วนกลาง ที่มีต่อจดหมายข่าวปศุสัตว์ และ ศึกษาความคิดเห็นของข้าราชการกรมปศุสัตว์ส่วนกลาง ที่มีต่อปัจจัยของจดหมายข่าวปศุสัตว์

                ผลการศึกษาวิจัย พบว่า ประชากรที่ศึกษาจำนวน 194 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง คิดเป็นร้อยละ 59.8 มีอายุอยู่ในช่วง 41 – 45 ปี ร้อยละ 18.6 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 66.0 มีตำแหน่งอยู่ในกลุ่มภารกิจรอง ร้อยละ 35.5 อยู่ในระดับชั้น 5 ร้อยละ 33.0 และมีประสบการณ์ทำงานระหว่าง 8 – 16 ปี ร้อยละ 29.9

                ความคิดเห็นของข้าราชการกรมปศุสัตว์ส่วนกลางที่มีต่อจดหมายข่าวปศุสัตว์ภาพ รวม มีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 3.15 มีความคิดเห็นในระดับค่อนข้างเห็นด้วย และความคิดเห็นของข้าราชการกรมปศุสัตว์ส่วนกลางที่มีต่อปัจจัยของจดหมายข่าว ปศุสัตว์ สามารถเรียงลำดับจากคะแนนเฉลี่ยสูงสุดไปยังต่ำสุด ดังนี้ ด้านรูปแบบของจดหมายข่าวปศุสัตว์ มีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 3.27 ด้านเนื้อหาจดหมายข่าว มีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 3.13 ด้านความรู้และประโยชน์ที่ได้จากจดหมายข่าวปศุสัตว์ 3.11 และ ด้านการเผยแพร่จดหมายข่าวปศุสัตว์ มีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 3.09 

               ผลการศึกษา พบว่า เพศ อายุ ระดับการศึกษา ตำแหน่งงาน ระดับชั้น สังกัด ประสบการณ์ทำงาน ที่แตกต่างกัน มีความคิดเห็นที่มีต่อจดหมายข่าวปศุสัตว์ไม่แตกต่างกัน            

                แต่อย่างไรก็ตาม การทดสอบสมมติฐานในรายด้าน พบข้อมูลดังนี้  ด้านเนื้อหาของจดหมายข่าว พบว่า มีความแตกต่างกันระหว่างตำแหน่งที่ปฏิบัติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีความแตกต่างระหว่างระดับชั้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และด้านการเผยแพร่จดหมายข่าวปศุสัตว์ พบว่า มีความแตกต่างกัน ระหว่างเพศ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

 


* นักวิชาการเผยแพร่ 5 กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์  กรมปศุสัตว์

เลขทะเบียนวิชาการ     51(2)-0511-044
สถานที่ดำเนินการ       สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์
ระยะเวลาดำเนินการ    มีนาคม – สิงหาคม 2550
การเผยแพร่                หน่วยงานของกรมปศุสัตว์  และสำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 1