เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube Follow us on Rss

A- A A+

งานวิจัย / ผลงานวิชาการ กสส.

การศึกษาผลของอายุและน้ำหนักแม่พันธุ์แพะที่ใช้ผสมพันธุ์ครั้งแรกต่อการให้ลูกแฝด

การศึกษาผลของอายุและน้ำหนักแม่พันธุ์แพะที่ใช้ผสมพันธุ์ครั้งแรกต่อการให้ลูกแฝด  

ธนจิตร์ ฮุ่นตระกูล และ สุพร คงเกตุ  

บทคัดย่อ  

            การศึกษาผลของ อายุแม่พันธุ์แพะที่ใช้ผสมพันธุ์ครั้งแรกต่อการให้ลูกแฝดโดยใช้แพะลูกผสม พันธุ์บอร์ จำนวน 45 ตัว แบ่งเป็น 3 กลุ่มตามอายุแพะที่ใช้ผสมพันธุ์ครั้งแรก คือ 4 8 และ 10 เดือน และศึกษาผลของน้ำหนักแม่พันธุ์แพะที่ใช้ผสมพันธุ์ครั้งแรกต่อการให้ลูกแฝด  โดยใช้แพะลูกผสมพันธุ์บอร์  28 ตัว ของศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีนครศรีธรรมราชแบ่งเป็น  2  กลุ่ม  ตามช่วงน้ำหนัก คือ 15 – 19 และ 20 – 25 กิโลกรัม     ทดสอบความแตกต่างของการให้ลูกแฝด โดยใช้การทดสอบทางสถิติแบบไคสแควร์  พบว่า มีแพะที่ให้ลูกแฝดเท่ากับ 0  2 และ 2 แม่ในแพะกลุ่มที่มีอายุผสมพันธุ์ครั้งแรก 4  8  และ 10 เดือน ตามลำดับ จากการทดสอบทางสถิติ พบว่า การเกิดลูกแฝดเมื่อผสมพันธุ์แพะครั้งแรกที่อายุ 4  8  และ 10 เดือน มีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (P>0.05)    และพบว่าการเกิดลูกแฝดในการผสมแม่พันธุ์แพะครั้งแรกที่น้ำหนักตัว 15 – 19 และ 20 – 25  กิโลกรัม เท่ากับ 1 และ 2 ตัวตามลำดับ จากการทดสอบทางสถิติ พบว่า น้ำหนักเมื่อผสมครั้งแรก มีผลต่อการทำให้เกิดลูกแฝดที่แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (P>0.05)  และจากการศึกษาอัตราการตายของลูกแพะก่อนหย่านม ( 3 เดือน )  พบว่า จากจำนวนลูกแพะทั้งหมด 37 ตัว แบ่งเป็น ลูกแพะโทน จำนวน 31 ตัว และ ลูกแพะแฝด จำนวน 6 ตัว มีลูกแพะตาย จำนวน 3 และ 1 ตัว ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการตายของลูกแพะก่อนหย่านม เท่ากับ 9.68 และ 16.67 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ


ทะเบียนผลงานวิชาการเลขที่   50(2) - 0511 - 017
สถานที่ดำเนินการ                 ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีนครศรีธรรมราช
ระยะเวลาดำเนินการ               ตุลาคม 2548 - กรกฎาคม 2549

ดาวน์โหลดเรื่องเต็ม

คู่มือการเขียนบทความด้านปศุสัตว์ให้น่าสนใจ

คู่มือการเขียนบทความด้านปศุสัตว์ให้น่าสนใจ  โดย พิจารณา สามนจิตติ

บทนำ 

  • หลักการและเหตุผล ประชาสัมพันธ์เป็นงานที่ต้องสร้างความเข้าใจที่ดี  สร้างความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาให้มีต่อหน่วยงาน/องค์กร บทความเป็นเครื่องมือที่ช่วยเสนอข้อเท็จจริง ความคิด  ความรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดี  บทความที่มีคุณค่าในสายตาของสื่อมวลชนก็จะได้รับการเผยแพร่ออกสู่สายตา ประชาชน
                     กรมปศุสัตว์ เป็นองค์กรหลักในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการปศุสัตว์ให้ได้สินค้าปศุสัตว์ ที่มีคุณภาพเพียงพอต่อการบริโภคและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก  บนพื้นฐานการใช้และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและ ยั่งยืน กรมปศุสัตว์ยังต้องมีหน้าที่ในการวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการปศุสัตว์ กำหนดมาตรฐาน กำกับ ควบคุม ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าปศุสัตว์  และสถานประกอบการด้านการปศุสัตว์  รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต  โดยการพัฒนาสุขภาพสัตว์และส่งเสริมอาชีพการปศุสัตว์คู่มือนี้จะเป็นแนวทาง ให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง  ในการที่จะเขียนบทความนำเสนอ  เพื่อประชาสัมพันธ์งานด้านปศุสัตว์ 
                     คู่มือเล่มนี้จะเป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการจุดประกายแนวคิดในการเขียนบทความ เผยแพร่ความรู้  ซึ่งประสิทธิภาพและความน่าสนใจของบทความขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน อาทิ ประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ความสมบูรณ์ของเนื้อหา รูปแบบการนำเสนอ เป็นต้น
                     คู่มือเล่มนี้ ผู้เขียนได้แนะนำวิธีการเขียนบทความให้น่าสนใจ  ที่เข้าใจง่าย  เพื่อที่จะได้เป็นแนวทางในการนำไปปรับใช้  รวมทั้งได้รวบรวมบทความทั้งที่ใช้เผยแพร่ทางสื่อสิ่งพิมพ์หรือที่ใช้เผยแพร่ ทางวิทยุกระจายเสียง ฯลฯ  ที่ได้จัดทำขึ้นและได้รับการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนแขนงต่างๆ อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์  วิทยุ  โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ มารวมไว้  เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลความรู้แก่บุคคลทั่วไปนำไปใช้ประโยชน์ได้ 
  • วัตถุประสงค์ 
                      1. เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์มีหลักการและ แนวทางการเขียนบทความที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ 
                      2. เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์มีตัวอย่างบท ความ ที่ได้เผยแพร่ทางสื่อมวลชน  อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์  วิทยุ  โทรทัศน์  ฯลฯ     
  • ขอบเขตการดำเนินการ
                      ข้อมูลที่นำเสนอใน ”คู่มือการเขียนบทความด้านปศุสัตว์ที่น่าสนใจ” ดำเนินการศึกษา ในระหว่างเดือนกันยายน 2548  ถึง  เดือนกรกฎาคม 2549   
  • ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ  คู่มือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อ 
                     1. เจ้าหน้าที่หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ได้ศึกษาเป็นตัวอย่าง ในการเขียนบทความเพื่อเผยแพร่ทางสื่อมวลชนแขนงต่างๆ
                     2. เจ้าหน้าที่หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์สามารถพัฒนาหรือ ประยุกต์แนวทางการเขียนบทความ เพื่อเผยเพื่อแพร่ทางสื่อมวลชนให้น่าสนใจได้มากขึ้น


    เลขทะเบียนวิชาการ             50 (2) – 0511 - 065
    สถานที่ดำเนินการ               สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์
    ระยะเวลาดำเนินการ             กันยายน  2548 – กรกฎาคม  2549
    การเผยแพร่                       สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 1 – 9 และหน่วยงานของกรมปศุสัตว์
    ดาวน์โหลดเรื่องเต็ม

ระบบฐานข้อมูลอาสาปศุสัตว์

ระบบฐานข้อมูลอาสาปศุสัตว์

อัญชลี เที่ยงธรรม1

บทคัดย่อ 

              
             วัตถุประสงค์การศึกษาเพื่อออกแบบระบบฐานข้อมูลอาสาปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

             วิธีการศึกษา ดำเนินการเก็บ ข้อมูลรวบรวมจากเอกสาร รายงานและผู้เกี่ยวข้องถึงข้อมูลที่ต้องจัดเก็บและผลลัพธ์ที่ต้องการ เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับอาสาปศุสัตว์ แล้วนำข้อมูลที่รวบรวมได้ไปออกแบบฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ โดยใช้ระบบจัดการฐานข้อมูล Microsoft Access 2003 จากนั้นทำการทดสอบระบบฐานข้อมูลที่ออกแบบโดยบันทึกข้อมูลตัวอย่างจำนวน 1,263 ข้อมูล แล้วทำการปรับปรุงระบบจนได้ระบบฐานข้อมูลที่ถูกต้องสมบูรณ์สำหรับนำไป ประยุกต์ใช้

             ผลการศึกษาพบว่าภายหลังการออกแบบฐานข้อมูลระดับแนวคิดได้เอนทิตี (Entity) หลักทั้งหมด 6 เอนทิตี ที่สามารถเก็บข้อมูลในเรื่อง ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลหลักสูตรฝึกอบรม ข้อมูลประวัติการฝึกอบรม ข้อมูลพื้นที่จังหวัด ข้อมูลพื้นที่อำเภอ จากนั้นนำไปออกแบบฐานข้อมูลในระดับกายภาพ และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ฐานข้อมูลด้วยการสร้างหน้าจอซึ่งประกอบด้วย ปุ่มคำสั่งต่าง ๆ ที่ง่ายต่อการใช้งาน ระบบฐานข้อมูลนี้สามารถป้อนข้อมูล ค้นหา แก้ไขข้อมูลและแสดงผลลัพธ์ได้อย่างรวดเร็ว

              ฐานข้อมูลนี้ได้ออกแบบรายงานทั้งหมด 5 รายงาน ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการใช้งาน และสามารถสร้างรายงานเพิ่มเติมได้ตามที่ผู้ใช้งานต้องการในอนาคต โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานอื่น สามารถนำสารสนเทศที่ได้จากรายงานไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง กับอาสาปศุสัตว์ การวางแผนการฝึกอบรม การวางแผนการปฏิบัติงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


1 นักพัฒนาทรัพยากรบุคคล 5 สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์

ดาวน์โหลดเรื่องเต็ม

Consumers Information About Beta – agonist Free in Pork

Consumers Information  About    Beta – agonist  Free in Pork

พิจารณา  สามนจิตติ *

บทคัดย่อ 

                การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแหล่ง ความถี่ ความตระหนักและความคิดเห็นใน การรับรู้ข่าวสาร  และศึกษาเปรียบเทียบความตระหนักและความคิดเห็นในการรับรู้ข่าวสารโครงการ เนื้อสุกรปลอดสารเร่งเนื้อแดง ระหว่างผู้บริโภคที่มี เพศ อายุ อาชีพ สถานภาพสมรส การศึกษา รายได้ และการรับรู้ข่าวสารที่แตกต่างกัน เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ผู้บริโภคเนื้อสุกรในพื้นที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 150 ราย วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการแจกแจงความถี่หาค่า ร้อยละ  คะแนนเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน จำแนกตามตัวแปรอิสระและทดสอบสมมติฐานการวิจัยด้วย  t-test  และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (one-way ANOVA) 

               จากการศึกษาพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 60  มีอายุต่ำกว่า 30 ปี  ร้อยละ 39.3  จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 38.7  สถานภาพโสด ร้อยละ 52  มีอาชีพรับราชการ  ร้อยละ 61.3  มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 8,300 บาท ร้อยละ 44  ส่วนการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับโครงการเนื้อสุกรปลอดสารเร่งเนื้อแดง  จากการศึกษา พบว่า มีผู้ดูโทรทัศน์เป็นประจำ  ร้อยละ  78  ฟังวิทยุเป็นประจำ ร้อยละ  48.7 อ่านเป็นประจำ ร้อยละ  48.7  เคยทราบว่าสุกรใส่สารจะทำให้เป็นอันตราย ร้อยละ 90  และส่วนใหญ่ทราบจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์  ร้อยละ 95.3 รองลงมาคือโปสเตอร์ ร้อยละ 94  และจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข   ร้อยละ    93.3  จากสื่อสิ่งพิมพ์ ร้อยละ 83.3  จากวิทยุ ร้อยละ 74.7  จากโทรทัศน์  ร้อยละ  48.7

                 ความตระหนักและความคิดเห็นที่มีต่อการบริโภคเนื้อ สุกรที่ปลอดสารเร่งเนื้อแดง ผลจากการศึกษา  พบว่า ผู้บริโภคที่มีสถานภาพสมรสต่างกันจะมีความตระหนักและความคิดเห็นในการรับรู้ ข้อมูลข่าวสารโครงการเนื้อสุกรปลอดสารเร่งเนื้อแดงต่างกันโดยผู้บริโภคที่มี สถานภาพสมรสจะมีความตระหนักมากกว่าผู้บริโภคที่มีสถานภาพโสด  รวมทั้งผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความตระหนักและความคิดเห็นที่มีต่อการบริโภค เนื้อสุกรปลอดสารเร่งเนื้อแดง อยู่ในระดับปานกลางโดยค่าคะแนนเฉลี่ยระหว่าง 49 - 54  คิดเป็นร้อยละ  61.3  รองลงมาอยู่ในระดับมากค่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่า 54 ขึ้นไป  คิดเป็นร้อยละ  28.0  ซึ่งในระดับน้อยที่มีค่าคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 49 ผู้บริโภคมีความตระหนักน้อย  คิดเป็นร้อยละ  10.7 

                  ผลจากการศึกษา พบว่า ทุกกลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับโครงการเนื้อสุกรปลอดสารเร่ง เนื้อแดงจากสื่อต่างๆ ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง  แต่ความตระหนักถึงประโยชน์และโทษของสารเร่งเนื้อแดงยังไม่มากพอ จึงมีข้อ เสนอแนะว่าควรเร่งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อที่เข้าถึงประชาชนได้ง่ายและรวด เร็ว  ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความรู้  ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการเนื้อสุกรปลอดสารเร่งเนื้อแดงอย่างถูกต้องมากขึ้น


นักวิชาการเผยแพร่ 5  กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์  สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์  กรมปศุสัตว์

ดาวน์โหลดเรื่องเต็ม

การศึกษาการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว

การศึกษาการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว

จารุวัฒน์  นุตเดชานันท์ 2/     สว่าง  อังกุโร 2/ 

บทคัดย่อ                        

                การศึกษาการดำเนินโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษารูปแบบแนวทางการดำเนินงาน    2) เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกรมปศุสัตว์ในพื้นที่

                โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ ล้านครอบครัว เป็นโครงการตามนโยบายรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนโครงการหนึ่ง อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ผ่านมา เมื่อถึงฤดูที่ผลผลิตออกสู่ตลาด ผลผลิตก็จะออกมาพร้อมๆ กันจำนวนมาก เกษตรกรมักประสบปัญหาราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ การช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการปรับโครงสร้างการผลิต โดยปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่เกษตรกรปลูกให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เกษตรกรก็ยังพบปัญหาจากภัยธรรมชาติ ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล มีทั้งฝนแล้ง น้ำท่วม ฝนทิ้งช่วง ผลผลิตเสียหาย ทำให้เกษตรกรมีหนี้สิ้น การหาแหล่งเงินทุน หรือการลงทุนโดยการกู้ยืมเงินเพิ่มเติมจากหนี้สินที่มีอยู่แล้วทำได้ยาก ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายจัดตั้งนิติบุคคลในรูปบริษัท โดยจัดหาทุนในรูปปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร และช่วยเหลือบริหารจัดการ เพิ่มขีดความสามารถให้เกษตรกรมีเทคโนโลยีในการผลิต การแปรูป การตลาดที่เหมาะสม รวมทั้งช่วยเหลือในการบริหารความเสี่ยงต่างๆ โดยจัดตั้งบริษัทส่งเสริมธุรกิจเกษตรกรไทย จำกัด (สธท.) ดำเนินงานประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงผ่านกลไกของรัฐบาล และเอกชนที่มีอยู่แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ ในเบื้องต้น บริษัท สธท. ได้แต่งตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นตัวแทนดำเนินการกิจการธุรกิจโคเนื้อที่เกี่ยวข้องตามโครงการส่งเสริมการ เลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว

                 โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ ล้านครอบครัว มีวัตถุประสงค์  1) แก้ไขปัญหาเกษตรกรที่ยากจน โดยการเลี้ยงโคเป็นอาชีพเสริมและเพิ่มรายได้  2) ผลิตเนื้อโคให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และให้สามารถส่งออกได้  3) ส่งเสริมเกษตรกรผลิตปุ๋ยคอก ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี  มีกิจกรรมดำเนินการ   2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมผสมเทียม เป็นกิจกรรมดำเนินการด้านการผลิตโคเพื่อให้แม่โคของเกษตรกรสามารถเพิ่มผล ผลิตจากเดิมที่เคยให้ผลผลิตลูกโค 50 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ และพัฒนาปรับปรุงพันธุ์โคโดยใช้น้ำเชื้อจากพ่อโคพันธุ์ดีที่กรมปศุสัตว์ รับรอง ดำเนินการโดยกรมปศุสัตว์เปิดรับสมัครเกษตรกรผู้นำที่มีความรู้ หรือมีประสบการณ์ด้านการผสมเทียมเข้ารับการฝึกอบรมและสอบผ่านการทดสอบเป็น อาสาผสมเทียม เพื่อให้บริการผสมเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพทั่วถึง เกษตรกรที่มีแม่โคหรือโคสาวเลี้ยงอยู่แล้ว หากประสงค์ขอรับบริการผสมเทียม สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอทุกแห่ง เกษตรกรที่เลี้ยงแม่โคนอกจากจะได้รับบริการผสมเทียมแล้ว แม่โคจะได้รับการขึ้นทะเบียนทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ และบัตรประจำตัวโค ตลอดจนบริการดูแลด้านสุขภาพแม่โค กิจกรรมที่ 2 คือ กิจกรรมจัดหาโคมาให้เกษตรกรยืมเลี้ยง มีบริษัทส่งเสริมธุรกิจเกษตรกรไทย จำกัด (สธท.) เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ดำเนินการโดยจัดหาโครุ่นหย่านมอายุ 8 – 12 เดือน มาให้เกษตรกรยืมเลี้ยงเป็นเวลา 1 – 1½ ปี เมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนด หรือโคเติบโตได้ขนาด บริษัท สธท. จะรับคืนโคจากเกษตรกร โดยจ่ายค่าตอบแทนการเลี้ยงจากน้ำหนักโคที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวเงินจากมูลค่าโค สุดท้ายหักมูลค่าเริ่มต้น หักค่าใช้จ่ายดำเนินการของบริษัท และส่วนต่างหรือกำไร ร้อยละ 10 ให้บริษัท บริษัทจะนำโคไปให้เกษตรกรยืมเลี้ยง และรับโคคืนถึงบ้านเกษตรกร การเลี้ยงโคเนื้อเป็นอาชีพเสริมในลักษณะผสมผสานการปลูกพืชที่เกษตรกรทำอยู่ แล้ว โดยเฉพาะการเลี้ยงโคเนื้อจำนวน 2 ตัว เกษตรกรใช้เวลาในการเลี้ยงดูประจำวันเพียงเล็กน้อย ประกอบกับโคเป็นสัตว์กินหญ้าและพืชวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การลงทุนเลี้ยงอยู่ที่ตัวโคเป็นส่วนใหญ่ และมูลโค สิ่งขับถ่ายจากโคสามารถใช้ผลิตปุ๋ยคอก ปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของกิน ให้อินทรียวัตถุแก่ดิน มีส่วนช่วยเสริมการปลูกพืชหลักของเกษตรกร ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ตลอดจนลดต้นทุนการผลิตค่าปุ๋ยด้วยอีกทางหนึ่ง

                โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว เป็นโครงการหนึ่งที่ช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจนในพื้นที่ มีกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 3 ฝ่าย ได้แก่ อาสาผสมเทียม เกษตรกรเลี้ยงแม่โคเพื่อผลิตลูก และเกษตรกรเลี้ยงโครุ่นหย่านม ในระยะเริ่มต้นอาจดูเหมือนเป็นการดำเนินการเป็นส่วนๆ ไป   แต่ต่อไปเมื่อมีการดำเนินการในระดับพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล ทั้ง 3 ฝ่ายจะอยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือใกล้เคียงกัน อาสาผสมเทียมจะให้บริการผสมเทียมผู้เลี้ยงแม่โค ให้คำแนะนำดูแลสุขภาพโคตลอดจนการดูแลแม่โคก่อนคลอดไปจนคลอด และหย่านมลูกโค เมื่อลูกโคเติบโตอายุ 8 – 12 เดือน บริษัท สธท.  ก็จะมารับซื้อโค เพื่อส่งมอบให้เกษตรกรกลุ่มเลี้ยงโครุ่นหย่านมยืมไปเลี้ยง เป็นวงจรอยู่ในหมู่บ้าน ตำบล พื้นที่เดียวกัน     มีการร่วมอาศัยพึ่งพากันในสังคม หากกลุ่มเกษตรกรมีการดำเนินงานสังคมที่เข้มแข็งขึ้น เกษตรกรสามฝ่ายรวมตัวกันได้เป็นกลุ่มหรือสหกรณ์ ก็สามารถประกอบธุรกิจการผลิตโคเนื้อที่เข้มแข็ง ขยับขยายเป็นอาชีพที่มั่งคงให้กับชุมชนของเกษตรกรต่อไป 


1/ ทะเบียนวิชาการเลขที่ 50 (2) – 0511 – 070
2/ สำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี

ดาวน์โหลดเรื่องเต็ม

การผลิตจินหัวแฮม

การผลิตจินหัวแฮม 
เพ็ญศรี  จูงศิริวัฒน์1  
บทคัดย่อ

               ศึกษาการทำจินหัวแฮม (Jinhua Ham) จาก สุกรลูกผสมพันธุ์จินหัว เพื่อใช้สำหรับปรุงอาหารในภัตตาคารจีน เป็นการส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรบนพื้นที่สูง และทดแทนการนำเข้าแฮมดิบจากจีน ทำการทดลองโดยใช้ขาหลังของสุกรลูกผสมพันธุ์จินหัวน้ำหนัก 5-8 กิโลกรัม จำนวน 27 ขา หมักเกลือ 3 ครั้ง (Dry Cured) ทำให้เนื้อแห้งที่ อุณหภูมิ 2-4 องศาเซลเซียส นาน 2 เดือน และแขวนที่ที่มีอากาศไหลเวียนดี อุณหภูมิ 5-25 องศาเซลเซียส นาน 6 เดือน เพื่อทำให้แฮมสุกมีกลิ่นหมัก (Maturation) ตามที่ตลาดต้องการ ผลวิเคราะห์ทางประสาทสัมผัสพบว่า จินหัวแฮมจากการทดลองมีสี กลิ่น รสชาติ อยู่ในระดับความชอบปานกลาง การวัดค่า pH  (ความเป็นกรด-ด่าง) ของเนื้อสุกรสด เนื้อสุกรที่หมักเกลือครั้งที่ 2 และ 3 มีความแตกต่าง (P <0.05)    ค่า  pH จะสูงขึ้นเมื่อเนื้อแห้งลง ด้านคุณค่าทางอาหารของเนื้อแดงของจินหัวแฮมพบว่าไม่มีความแตกต่าง (P <0.05) ระหว่างจินหัวแฮมที่ได้จากการทดลองและจินหัวแฮมที่ผลิตจากจีน แต่เนื้อแดงของจินหัวแฮมที่ได้จากการทดลองมีความชื้นสูงมากกว่าจินหัวแฮมที่ ผลิตจากจีน ทำให้สี กลิ่น และรสชาติของจินหัวแฮมจากการทดลองไม่เข้มข้นเท่ากับจินหัวแฮมที่ผลิตจากจีน แสดงว่าการระเหยน้ำและระยะเวลาของการเก็บบ่ม (Ripening) ยังไม่เพียงพอ

 

 1 กลุ่มวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์  สำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี

 

ดาวน์โหลดเรื่องเต็ม

การศึกษาสถานภาพจุดสาธิตปศุสัตว์ กิจกรรมศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล ในพื้นที่ภาคตะวันออก

การศึกษาสถานภาพจุดสาธิตปศุสัตว์  กิจกรรมศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล 
ในพื้นที่ภาคตะวันออก 1/

จารุวัฒน์  นุตเดชานันท์ 2/       ไมตรี  ชีวธารณากร 3/

บทคัดย่อ

                การศึกษาสถานภาพจุดสาธิตปศุสัตว์  กิจกรรมศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล  ในพื้นที่ภาคตะวันออก  มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพพื้นฐานจุดสาธิตปศุสัตว์  ที่จะเป็นแหล่งประสานงานและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านปศุสัตว์ไปสู่เกษตรกรใน พื้นที่  2) ศึกษาความพร้อมในการดำเนินงานของวิทยากรเกษตรกร 3) ศึกษาปัญหาข้อเสนอแนะ  ในการดำเนินงานของวิทยากรเกษตรกรและจุดสาธิตปศุสัตว์

            กลุ่มตัวอย่างได้แก่วิทยากรเกษตรกร  จำนวน 126  คน  และเกษตรกรที่ต้องการใช้บริการ  จำนวน 198  คน  รวม  324  คน  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย  ได้แก่  แบบสัมภาษณ์  และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์  โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป  SPSS  for  window           

             ผลการวิจัยพบว่า  วิทยากรเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศชาย  มีอายุเฉลี่ย  43.4 ปี ระดับการศึกษาสูงสุดร้อยละ 56.4  จบชั้นประถมศึกษา  มีสมาชิกในครัวเรือน  เฉลี่ย  4.5  คน  มีจำนวนผู้ใช้แรงงานเฉลี่ย  3  คน  ส่วนใหญ่มีอาชีพหลักเลี้ยงสัตว์  มีรายได้จากการเลี้ยงสัตว์ เฉลี่ย 8,362  บาทต่อเดือน วิทยากรเกษตรกรส่วนใหญ่เลี้ยงไก่พื้นเมือง โดยมีจำนวนไก่พื้นเมืองสำหรับใช้เป็นจุดสาธิตปศุสัตว์  เฉลี่ย  63.5  ตัว  รองลงมาเป็นจุดสาธิตโคเนื้อ    มีจำนวนโคเนื้อ สำหรับใช้เป็นจุดสาธิตปศุสัตว์  เฉลี่ย 15.5  ตัว  จุดสาธิตปศุสัตว์ส่วนใหญ่ไม่เคยถูกคัดเลือกเป็นฟาร์มสาธิตมาก่อน  โดยมีสมาชิกในครัวเรือนเป็นผู้ทำหน้าที่เลี้ยงสัตว์ ผู้ทำหน้าที่เลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย

            วิทยากรเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เคยรับการอบรมการเลี้ยงสัตว์มาก่อน  ส่วนใหญ่เมื่อผ่านการอบรม  หลักสูตร  2  วัน  คิดว่าตนเองได้รับความรู้เพียงพอ เพื่อใช้ในการทำหน้าที่วิทยากรเกษตรกรประจำจุดสาธิต  ปศุสัตว์  กิจกรรมศูนย์บริการและถ่ายทอเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล  สิ่งจูงใจการเข้ารับหน้าที่วิทยากรเกษตรกรอันดับแรก คือได้รับความรู้ในการประกอบอาชีพ  รองลงมาจะได้ช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อนบ้าน ปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานเป็นวิทยากรเกษตรกร อยู่ในระดับปานกลาง  โดยมีปัญหาอุปสรรค    ขาดการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ รองลงมาคือขาดอุปกรณ์และเครื่องมือ  สำหรับเกษตรกรที่ต้องการใช้บริการ  ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุมากว่า  50  ปี  มีการศึกษาระดับประถมศึกษา  ส่วนใหญ่ใช้แรงงานในครัวเรือน  เลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพรอง ต้องการใช้บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่มากที่สุด รองลงมาคือ การเลี้ยงโคเนื้อ 

คำสำคัญ : เกษตรกรวิทยากร, จุดสาธิตปศุสัตว์, ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล1/

 

ทะเบียนวิชาการเลขที่  48(4)-1111-158
2/  สำนักส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์
3/  สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดภูเก็ต

พฤติกรรมการปฏิบัติงานและความต้องการฝึกอบรมของอาสาปศุสัตว์ (อสป.) ภาคใต้

พฤติกรรมการปฏิบัติงานและความต้องการฝึกอบรมของอาสาปศุสัตว์ (อสป.) ภาคใต้1/

ประเทืองทิพย์   เสือเอก2/

บทคัดย่อ

              การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการปฏิบัติงานและความต้องการฝึกอบรมของอาสาปศุสัตว์ (อสป.) ภาคใต้ เปรียบเทียบพฤติกรรมการปฏิบัติงานและความต้องการฝึกอบรม อาสาปศุสัตว์ (อสป.) ภาคใต้ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ อาสาปศุสัตว์ (อสป.) ภาคใต้ จำนวน 172 คน โดยการใช้สูตรของ ทาโร่ ยามาเน่ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยส่งแบบสอบถาม นำมาประมวลผลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและพิสูจน์สมมุติฐาน One Way ANOVA และเปรียบเทียบความแตกต่างรายคู่ โดยวิธีการของ ดันแคน (Duncanf Test)

              ผลการศึกษาพบว่าอาสาปศุสัตว์ (อสป.) ภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นชาย อายุเฉลี่ย 42.2 ปี ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6  มีสถานภาพสมรส ประกอบอาชีพหลัก ทำไร่/ทำและอาชีพเลี้ยง รายได้จากการประกอบอาชีพต่อเดือนโดยเฉลี่ย  7,458 บาท มีตำแหน่งเป็นอาสาปศุสัตว์ มีพฤติกรรมการปฏิบัติงาน“ปานกลาง” (X=15.25 คะแนน) มีความต้องการฝึกอบรมมีความต้องการฝึกอบรม”มาก” (X=46.46 คะแนน) มีปัญหาในการปฏิบัติในระดับ ”ปานกลาง” อาสา ปศุสัตว์ (อสป.) ที่มีอายุและระดับการศึกษาต่างกันมีพฤติกรรมการปฏิบัติงานและความต้องการฝึก อบรมไม่แตกต่างกัน แต่อาสาปศุสัตว์ที่ระดับความรู้ค่างกันมีพฤติกรรมการปฏิบัติงานและความต้อง การฝึกอบรมแตกต่างกัน แต่อาสาปศุสัตว์ที่มีความรู้ต่างกันมี พฤติกรรมการปฏิบัติงานและความต้องการฝึกอบรมแตกต่างกัน โดยกลุ่มที่จบต่ำกว่าประถมศึกษามีพฤติกรรมการปฏิบัติงานมากกว่ากลุ่มที่จบ การศึกษาระดับ ปวช/อนุปริญญา และ โดยกลุ่มที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และ ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 มีความต้องการฝึกอบรมมากกว่า กลุ่มที่ต่ำมีการศึกษากว่าประถมศึกษา

             จากข้อสรุปที่ได้แสดงว่า อาสาปศุสัตว์ (อสป.) ภาคใต้ มีพฤติกรรมการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ไม่สูง (ปานกลาง) แต่มีความต้องการฝึกอบรมเพิ่มตามมาก ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ให้สามารถปฏิบัติงานให้บรรลุผลสำเร็จมากขึ้น พร้อมทั้งให้มีโอกาสไดรับผลตอบแทนที่ควรจะได้รับอย่างเหมาะสม ยุติธรรม ซึ่งจะส่งผลต่อการบรรลุเป้าของกรมปศุสัตว์ต่อไป 

 

1/ ทะเบียนวิชาการเลขที่   50 (2) 0511 - 048
2/ นักพัฒนาทรัพยากรบุคคล 6 ว   สำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี

ดาวน์โหลดเรื่องเต็ม

ระดับความรู้และระดับการใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมของเกษตรกร อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์

ระดับความรู้และระดับการใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมของเกษตรกร อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์1/

ประเทืองทิพย์   เสือเอก2/  วิญญู  ทองทุม3/

บทคัดย่อ

             การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความรู้และระดับการใช้ เทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมของเกษตรกร และความสัมพันธ์ระหว่างระดับความรู้การเลี้ยงโคนมกับระดับการใช้เทคโนโลยี การเลี้ยงโคนม และระดับการใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมกับผลผลิตน้ำนมของเกษตรกรอำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ สุ่มตัวอย่างอย่างง่าย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง ประมวลผลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และหาความสัมพันธ์โดยใช้สถิติ Chi-Square

              ผลการศึกษา พบว่าเกษตรกรส่วนมากเป็นชาย ร้อยละ 60.8 อายุเฉลี่ย 44.5 ปี จบประถม ศึกษา  มีประสบการณ์การเลี้ยงโคนมเฉลี่ย 6.7 ปี ได้รับการฝึกอบรม เฉลี่ย 3 ครั้ง มีจำนวนวันฝึกอบรม เฉลี่ย 21 วัน มีพื้นที่ถือครองทั้งหมดเฉลี่ย 16.5 ไร่ มีพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์เป็นของตนเองเฉลี่ย 7.5 ไร่ มีโคนมทั้งหมดเฉลี่ย 18 ตัว มีโครีดนม เฉลี่ย 8 ตัว มีโคทดแทนฝูง 6 - 10 ตัว ผลผลิตน้ำนมเฉลี่ย 9.9 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน

              เกษตรกรมีระดับความรู้การเลี้ยงโคนมระดับปานกลาง (x=1,319.4 คะแนน) มีระดับการใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมระดับปานกลาง (x=1,140 คะแนน) ระดับความความรู้การเลี้ยงโคนมกับระดับการใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงโคนม มีความสัมพันธ์กับระดับการใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงโคนม อย่างมีนัยสำคัญที่ .000 การใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมในหมวดวิชา อาหารและการให้อาหาร โรคและการป้องกันโรค ประสิทธิภาพฝูงโค ประสิทธิภาพการให้นมของแม่โค ประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ฝูง และประสิทธิภาพการให้-อาหาร มีความสัมพันธ์กับระดับความรู้การเลี้ยงโคนมอย่างมีนัยสำคัญที่ .014, .001,.039, .002, .045 และ .003 ระดับการใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมไม่มีความสัมพันธ์กับผลผลิตน้ำนมต่อตัว ต่อวันของเกษตรกรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

              จากข้อสรุปที่ได้แสดงว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์  มีระดับความรู้และระดับการใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมระดับปานกลาง มีผลต่อผลผลิตโคนมระดับปานกลาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรถ่ายทอดความรู้ด้านการเลี้ยงโคนม หลักสูตรก้าวหน้าเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในฟาร์มโคนมอย่างต่อ เนื่องและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเรื่องที่เกษตรกรมีความรู้ในระดับน้อยและยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน

1/ ทะเบียนวิชาการเลขที่                 50 (2) – 0511 - 047
2/ นักพัฒนาทรัพยากรบุคคล 6 ว      สำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี
3/ นักพัฒนาทรัพยากรบุคคล 8 ว      สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 6 

การศึกษาการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในกิจกรรมกลุ่มพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะ

การศึกษาการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในกิจกรรมกลุ่มพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะ

โดย ชัยณรงค์ รัตนนาวินกุล  และ  ญาณวุฒิ ชีตารักษ์

บทคัดย่อ

              การวิจัยในครั้งนี้มี วัตถุประสงค์เพื่อศึกษา สภาพพื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจ สภาพการเลี้ยงแพะ บทบาทการมีส่วนร่วม และปัญหาอุปสรรคในการดำเนินกิจกรรม กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา คือเกษตรกรในกิจกรรมกลุ่มพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะ จำนวน 120 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานด้วยค่าไคสแควร์

              ผลการวิจัยพบว่าเกษตรส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุเฉลี่ย 46.7 ปี จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ไม่มีตำแหน่งทางสังคม มีสถานะเป็นสมาชิกกลุ่ม อาชีพหลักปลูกพืช มีรายได้หลักเฉลี่ย 102,500 บาทต่อปี มีรายได้จากการเลี้ยงแพะเฉลี่ย 27,750 บาทต่อปี มีรายจ่ายในการเลี้ยงแพะเฉลี่ย 9,250 บาทต่อปี และมีกำไรจาการเลี้ยงแพะเฉลี่ย 16,458 บาทต่อปี เลี้ยงแพะเฉลี่ยรายละ 12.9 ตัว มีประสบการณ์ในการเลี้ยงแพะเฉลี่ย 10 ปี เลี้ยงแบบขังคอก สมัครใจเข้าร่วมกิจกรรมด้วยตนเอง มีความคาดหวังจากการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อช่วยแก้ปัญหาในการประกอบอาชีพ และเข้าร่วมประชุมกลุ่มเกือบทุกครั้ง เกษตรกรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีส่วนร่วมในการปฏิบัติ และมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบระดับปานกลาง โดยมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์ระดับมาก

              ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า สภาพพื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจ และสภาพการเลี้ยงแพะไม่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การมีส่วนร่วมในปฏิบัติ การมีส่วนร่วมใน การรับผลประโยชน์ และการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ ยกเว้นรายได้จากการเลี้ยงแพะ และประสบการณ์ในการเลี้ยงแพะ มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติ ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 นอกจากนั้น เพศ และรายได้จากการเลี้ยงแพะ มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05  คำสำคัญ :  การมีส่วนร่วม, เกษตรกร, กลุ่มพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะ  


1 ทะเบียนผลงานทางวิชาการเลขที่ 48 (3)-1111-087
2 กลุ่มวิจัยและพัฒนาระบบฟาร์มปศุสัตว์ สำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมปศุสัตว์

ดาวน์โหลดเรื่องเต็ม